TNN คนยุโรปกำลังเข้าสู่ความยากจนลง

TNN

รายการ TNN

คนยุโรปกำลังเข้าสู่ความยากจนลง

คนยุโรปกำลังยากจนลง สะท้อนจากรายได้และกำลังซื้อที่ลดลง แม้แต่การบริโภคเนื้อสัตว์ก็กลายเป็นเรื่องหรูหราในชีวิตประจำวัน ขณะที่ “เยอรมนี” พี่ใหญ่ของยุโรปก็ไม่อาจหลีกหนีความลำบาก เช่นเดียวกับอังกฤษที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU)

วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ขณะนี้คนยุโรปกำลังเผชิญความจริงทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นั่นคือชีวิตที่ยากจนลง ซึ่งพวกเขาไม่เคยสัมผัสมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ที่ผ่านมา คนภายนอกต่างก็อิจฉาผู้คนในยุโรปที่มีคุณภาพชีวิตดี แต่ทุกวันนี้ชาวยุโรปต่างก็เผชิญความท้าทายไม่แพ้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นคนฝรั่งเศสที่กินฟัวกราส์และดื่มไวน์แดงน้อยลง ชาวสเปนลดการบริโภคน้ำมันมะกอกที่อยู่ในวัฒนธรรมการกินอาหารมายาวนาน ส่วนคนฟินแลนด์ที่ต้องอบซาวน่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตก็หันไปทำเฉพาะวันที่มีกระแสลมแรง เพราะราคาพลังงานจะถูกลง ด้านชาวเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์และนมลดลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ และชาวอิตาลีเผชิญวิกฤตราคาพาสต้าที่พุ่งขึ้นเท่าตัวจากเงินเฟ้อที่ขยับสูง


ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างรายปีที่ปรับตามเงินเฟ้อและกำลังซื้อ ค่าจ้างในเยอรมนีปี 2565 ลดลงร้อยละ 3 จากปี 2562 ส่วนค่าจ้างในอิตาลีและสเปนลดลงร้อยละ 3.5 ด้านกรีซลดลงร้อยละ 6 ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 6


ความยากจนลงของยุโรปไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่มีปัจจัยที่เกิดขึ้นมายาวนาน ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ประกอบกับค่านิยมชอบเวลาว่างและความมั่นคงทางอาชีพมากกว่าเน้นรายได้ ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส เมื่อประกอบกับการระบาดของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก รวมทั้งผลักให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงทั่วโลก ทั้งหมดนี้เป็นตัวเร่งให้ยุโรปออกอาการไม่สู้ดีจากความเจ็บป่วยที่ซ่อนอยู่

รัฐบาลในยุโรปช่วยรักษาการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้นายจ้าง ทำให้ผู้บริโภคไม่มีเงินสดสำรองในยามฉุกเฉิน ต่างจากชาวอเมริกันที่ได้รับประโยชน์จากพลังงานราคาถูกและความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกที่เคยเป็นเสาหลักของยุโรป ก็ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ เนื่องจากการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของเศรษฐกิจจีน โดยยูโรโซนพึ่งพาการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของ GDP เทียบกับสหรัฐฯ ที่พึ่งพาส่งออกเพียงร้อยละ 10 


การบริโภคภาคเอกชนในยูโรโซน หรือ 20 เขตเศรษฐกิจที่ใช้เงินสกุลยูโร ลดลงประมาณร้อยละ 1 นับตั้งแต่สิ้นปี 2562 หลังปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว สวนทางกับครัวเรือนในสหรัฐฯ ที่ได้อานิสงส์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 9 ทั้งนี้ ปัจจุบัน EU มีสัดส่วนราวร้อยละ 18 ของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภครวมทั้งโลก เทียบกับสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 28 ในขณะที่เมื่อ 15 ปีก่อน ทั้ง EU และสหรัฐฯ มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 25


ผลกระทบดังกล่าวสะเทือนไปทั่วยุโรป ไม่เว้นแม้แต่กรุงบรัสเซลส์ หนึ่งในเมืองที่ร่ำรวยที่สุด ประชาชนที่มีงานทำบางส่วนต้องต่อคิวซื้อสินค้าลดราคาจากผู้ให้บริการที่รวบรวมอาหารใกล้หมดอายุจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่าง ๆ การทำเช่นนี้ช่วยให้หลาย ๆ คนสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และบริการดังกล่าวก็เกิดขึ้นทั่วยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแนวคิดในการลดขยะอาหารและช่วยประหยัดเงิน อย่างกรณีของ TooGoodToGo บริษัทเดนมาร์กที่ขายอาหารเหลือทิ้งจากร้านค้าปลีกและร้านอาหาร มียอดผู้ลงทะเบียน 76 ล้านคนทั่วยุโรป มากกว่าจำนวนเมื่อสิ้นปี 2563 ประมาณ 3 เท่า 


ขณะที่ชาวเยอรมันกินเนื้อสัตว์เฉลี่ยต่อคนราว 52 กิโลกรัมในปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า และเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2532 แม้ว่าบางส่วนจะมาจากพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสุขภาพและคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแนวโน้มดังกล่าวเร่งตัวขึ้นหลังราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ชาวเยอรมันยังเปลี่ยนจากการกินเนื้อวัวและเนื้อลูกวัวไปเป็นเนื้อสัตว์ที่มีราคาไม่แพง เช่น เนื้อไก่


การใช้จ่ายที่ชะลอตัวและแนวโน้มประชากรที่ไม่สดใส ทำให้ยุโรปไม่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจ ยกตัวอย่าง “พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล” ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค และอาณาจักรแบรนด์สินค้าหรู LVMH ที่ต่างเพิ่มส่วนแบ่งยอดขายในตลาดอเมริกาเหนือ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวที่หาทางเพิ่มเที่ยวบินเพื่อดึงนักท่องเที่ยวอเมริกันมากขึ้น เนื่องจากชาวอเมริกันใช้จ่ายค่าโรงแรมเฉลี่ย 260 ยูโรต่อวัน เทียบกับนักท่องเที่ยวยุโรปที่ใช้จ่ายราว 180 ยูโรต่อวัน


ยูโรโซนรอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแบบเฉียดฉิว เนื่องจากสำนักงานสถิติยุโรป (ยูโรสแตต) ปรับตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 0 เมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 0.1 และล่าสุดการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย


แต่นักวิเคราะห์บางรายมองว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ของยูโรโซนมาจากการเพิ่มขึ้นในฝรั่งเศสและไอร์แลนด์ และไม่ได้เปลี่ยนมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยหากไม่รวมฝรั่งเศสและไอร์แลนด์ GDP ของยูโรโซนจะเติบโตเพียงร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งปัจจัยนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในไตรมาสต่อ ๆ ไป ขณะที่ผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินยังคงรุนแรงขึ้น และเป็นไปได้ที่ GDP ของยูโรโซนจะหดตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้


ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่ว (headline inflation) ไปในเขตยูโรโซน เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ชะลอตัวจากเดือนมิถุนายนที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่วางไว้ที่ร้อยละ 2 // ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ที่ไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ยังอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในเดือนกรกฎาคม ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน 


ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานในระดับดังกล่าวยังคงสร้างความผิดหวังให้ผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมายาวนาน และทำให้ ECB ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีเพื่อฉุดเงินเฟ้อ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECB ก็มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เป็นครั้งที่ 9 ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.75 พร้อมกับเปิดทางสำหรับปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่น่าจะกลับไปแตะระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดสงคราม และ “คริสติน ลาการ์ด” ประธาน ECB มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นสำหรับกลุ่มยูโรโซนแย่ลง เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในอ่อนแอลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่สูงและภาวะเข้มงวดทางการเงินทำให้การใช้จ่ายลดลง

เมื่อแยกมาดูเฉพาะเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของยุโรป และเคยมีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า เยอรมนีเองก็หนีไม่พ้นความยากลำบาก โดย GDP ในไตรมาส 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน อยู่ที่ร้อยละ 0 หรือไม่เติบโต หลังจาก GDP หดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หดตัวร้อยละ 0.4 และไตรมาสแรกปีนี้หดตัวร้อยละ 0.1 ซึ่งเท่ากับเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค


ถึงแม้ไตรมาสล่าสุด GDP เยอรมนีจะไม่อยู่ในแดนหดตัว แต่ผลงานที่ย่ำแย่ทำให้คาดการณ์กันว่า เยอรมนีอาจเผชิญการหดตัวของ GDP อีกในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มจะขยายตัวตามหลังเพื่อนบ้านในยูโรโซนอื่น ๆ อาทิ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยูโรโซน มีการเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ส่วนการเติบโตของ GDP สเปนอยู่ที่ร้อยละ 0.4 แม้จะชะลอตัวแต่ก็ยังดีกว่าที่คาดไว้


การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของเยอรมนีดีขึ้นในไตรมาส 2 แต่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ไม่ส่งสัญญาณเชิงบวกสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง เพิ่มแรงกดดันต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ร้อยละ 6.2 สูงกว่าเป้าหมายของ ECB ถึง 3 เท่า


อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจของเยอรมนีแย่กว่าภาพรวมของยูโรโซน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปีนี้ แต่เยอรมนีจะหดตัวร้อยละ 0.3 


นอกเหนือจากแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อจากราคาสินค้าและพลังงานที่สูงขึ้น การส่งออกของเยอรมนีก็ลดลง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม มีมูลค่ารวม 1.305 แสนล้านยูโร หรือ 1.420 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกระทบต่อความต้องการสินค้าจากเยอรมนี 


อีกประเทศที่มีสัญญาณเศรษฐกิจไม่ดีนัก คือ อังกฤษ ซึ่งเศรษฐกิจไม่มีการเติบโตในช่วง 3 เดือน ระหว่างเมษายน-มิถุนายน โดยเศรษฐกิจออกอาการทรง ๆ เนื่องจากการค้าหลังเบร็กซิต และภาคส่วนสำคัญ ๆ ไม่มีผลงานโดดเด่น


การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้าหลังกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ส่วนใหญ่ โดยมีเพียงเยอรมนีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักพอ ๆ กัน


เงินเฟ้อทั่วไป (headline CPI) ในอังกฤษ เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอลงจากร้อยละ 8.7 ในเดือนพฤษภาคม แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่วางไว้ที่ร้อยละ 2 ซึ่งเงินเฟ้อในระดับสูงอย่างยืดเยื้ออาจฉุดรั้งเศรษฐกิจ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพและตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากขึ้น จะส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งกระทบต่อการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลง


ก่อนหน้านี้ OECD คาดการณ์ว่า อังกฤษจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดในปีนี้ โดยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 เป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 13 ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551


ขณะที่มีข้อมูลระบุว่า จำนวนครัวเรือนในอังกฤษที่อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2541 เป็นอย่างน้อย โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ เกือบ 105,000 ครัวเรือน อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว เช่น โฮสเทลหรือแชร์ห้องพักในบ้านร่วมกับคนอื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มเก็บข้อมูล ซึ่งสะท้อนภาวะการเป็นคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง และผู้คนไม่สามารถเข้าถึงที่พักอาศัยได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง