TNN World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เจนเซน หวง “เทย์เลอร์ สวิฟต์ สายเทค” ผู้ปั้นชิป “Nvidia” สู่ขุมทอง

TNN

World

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เจนเซน หวง “เทย์เลอร์ สวิฟต์ สายเทค” ผู้ปั้นชิป “Nvidia” สู่ขุมทอง

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เจนเซน หวง  “เทย์เลอร์ สวิฟต์ สายเทค”  ผู้ปั้นชิป “Nvidia” สู่ขุมทอง

การที่ เจนเซน หวง ได้รับฉายาว่า “เทเลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทคโนโลยี” เหตุใดเขาจึงได้รับเกียรติเช่นนี้? และสิ่งที่เขาปลุกปั้น Nvidia นั้น สร้างคุณูประการอย่างไรต่อวงการเทคโนโลยี?

ณ เวลานี้ บุคคลทางธุรกิจสายเทคโนโลยีที่ถือว่าโด่งดังที่สุด แน่นอนว่าเป็น “เจนเซน หวง” ผู้อยู่เบื้องหลังบริษัท Nvidia บริษัทผลิตชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์เจ้าใหญ่ของสหรัฐฯ ขวัญใจของชาวเกมเมอร์และนักตัดต่อทั้งหลาย 


นั่นเพราะ หุ้นของบริษัทพุ่งทะยานสูงขึ้นร้อยละ 5 ทำให้มี Market Cap สูงแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจะกำลังสั่นคลอน Microsoft ผู้ครองเจ้าตลาดอันดับ 1 ณ ตอนนี้อยู่ก็เป็นได้


แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การที่หวงได้รับฉายาว่า “เทเลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทคโนโลยี” โดยเป็นฉายาที่ มาร์ค ซัคเคอเบิร์ก ตั้งให้ เหตุใดเขาจึงได้รับเกียรติเช่นนี้? และสิ่งที่เขาปลุกปั้น Nvidia นั้น สร้างคุณูประการอย่างไรต่อวงการเทคโนโลยี?


ลำบากตั้งแต่เด็ก


เจนเซน หวง หรือ หวง เหรินเซวิน เกิดที่ไต้หวัน ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายมายังประเทศไทยเมื่อเขาอายุได้ 4 ปี แต่พ่อของเขาเล็งเห็นว่า ประเทศไทยไม่อาจที่จะตั้งรกรากได้ ประกอบกับได้งานเป็นแรงงานฝึกหัดที่บริษัท Carrier พอดี จนเขาได้ย้ายไปสหรัฐฯ อีกครั้งตอนอายุได้ 9 ปี


ครอบครัวของหวงลำบากมาก ๆ หวงต้องกัดฟันสู้ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพื่อที่จะได้เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ มาจุนเจือครอบครัว ตรงนี้ เป็นจุดที่ทำให้หวงตระหนักได้ว่า ชีวิตของเขาต้องไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้


เขาเข็ยตนเองจนเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่รัฐโอเรกอน ก่อนที่จะได้โอกาสเข้าทำงานที่บริษัท LSI Logic ในตำแหน่งผู้จัดการโปรเจกต์ และเป็นนักออกแบบตัวประมวลผลอัจฉริยะที่ AMD ตรงนี้ ทำให้เขาได้รับองค์ความรู้เรื่องการผลิตชิป รู้ Know How แทบจะทุกอย่าง จนมีความคิดที่จะเปิดบริษัทชิปเป็นของตนเอง


จนปี 1993 เขา คริส มาลาชอฟสกี้ และเคอร์ติส เพรม ได้ก่อตั้ง Nvidia ขึ้น จากการคุยกันแล้วถูกคอที่ร้ายอาหารที่เมือง ซาน โฆเซ่ 


โดยทั้งสาม มีความฝันที่สุดแสนจะล้ำยุคล้ำสมัยว่า เราจะสร้าง “การ์ดกราฟฟิคจอภาพ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “การ์ดจอ” คอมพิวเตอร์ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้น ในยุค 90s ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ยังนึกภาพไม่ออกว่าสิ่งนี้คืออะไร เพราะสมัยนั้น ภาพกราฟฟิคประมวลผลด้วย CPU เพียงอย่างเดียว


ที่จริง การตั้งปณิธานแบบนี้ ถือว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ดังที่หวงเคยกล่าวไว้ว่าบริษัท Nvidia นั้นคือ “ความท้าทายด้านตลาด ความท้าทายด้านเทคโนโลยี และความท้าทายด้านระบบนิเวศเทคโนโลยี โอกาสสำเร็จแทบจะไม่มีเลย”


และนั่น ทำให้บริษัทในฝันของเขา มีสะดุดเล็กน้อย


รันวงการการ์ดจอ RIVA 128 พลิกเกม


ในปี 1995 หวงและพรรคพวกได้ออกการ์ด NV1 ซึ่งเป็นรุ่นแรกสุด ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจในการประมวลผลภาพกราฟฟิคอย่างมาก


แต่ยอดขายกลับพังไม่เป็นท่า ด้วยขนาดที่เทอะทะ ใหญ่เกินกว่าจะใช้กับคอมพิวเตอร์ตามบ้านเรือน และราคาที่สูงมาก จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยม ยอดขายเลยไม่เป็นไปตามที่หวัง


ไม่นานหวงก็ออก NV2 ขึ้นมา โดยแก้ไขข้อเสียเปรียบเดิมที่ขนาดและราคา แต่ก็ยังไม่เป็นที่ต้องการ เพราะการประมวลผลนั้น ยังไม่ทันใจ “ตลาดเกม” ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก ที่ต้องการการประมวลภาพ 3D ให้เร็วกว่านี้ โดยคู่แข่งอย่าง OpenGL และ DirectX ของไมโครซอฟท์ มีประสิทธิภาพที่สูงกว่ามาก


จนท้ายที่สุด ในปี 1997 Nvidia ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ NV3 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “RIVA 128” ซึ่งได้แก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ และได้สร้างจุดเด่นเหนือคู่แข่ง คือไม่ว่าจะประมวลผล 2D หรือ 3D ภาพก็คมชัด สมจริง และลื่นไหล


จนต่อ ๆ มา Nvidia ก็ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ชิปของพวกเขามีมูลค่า “มากกว่าทองคำ” เสียอีก


เทเลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทค


นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของชายผู้ลำบากมาก่อนแบบหวง ทุกวันนี้ เขามีพร้อมทุกสิ่งอย่าง ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงปรากฏ ตลอดจน การเป็นที่รักยิ่งของชาวไต้หวัน


บ็อบ โอดอนเนล นักวิเคราะห์เทคโนโลยี ได้กล่าวว่า “เขาได้รับการตอบรับไม่ต่างจากร็อคสตาร์เลยทีเดียว … เขาพิจารณาว่าชื่อเสียงของเขาเป็นโอกาสในการโปรโมทแบรนด์ Nvidia อีกทอดหนึ่ง เขามีความสุขอย่างมาก … ในไต้หวัน เขาคือชายผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ดินแดนนี้ ไปที่ไหนก็มีแต่ผู้คนเดินเข้าหา”


เขามักจะปรากฏตัวด้วยเสื้อหนังราคา 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเขาเคยกล่าวว่า เพราะภรรยาและลูก ๆ ทำให้เขาหันมาแต่งตัวเช่นนี้ และเขาก็ชอบมาก ๆ 


ตรงนี้ กลายเป็นภาพจำสำหรับตัวเขา ไม่แพ้ภาพจำของดินแดนไต้หวัน ที่หากพูดถึง ก็ต้องนึกถึงประเทศแห่งการผลิตชิปอย่างไรอย่างนั้น


โอดอนเนล ยังกล่าวเสริมว่า “ผมตลกอย่างมาก ประเดี๋ยวเขาจะขึ้นพูดที่สนามกีฬาแห่งชาติไต้หวัน เหมือนเขาทัวร์คอนเสิร์ตทีเดียวครับ”


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เขาจะได้รับฉายาว่า “เทเลอร์ สวิฟต์ แห่งวงการเทคโนโลยี”


แต่ด้วยความไม่ถือตัว และช่างยิ้มของหวงมากกว่า ที่ทำให้ตอนนี้ เขาเป็นขวัญใจคนไต้หวัน และเหล่าคนดังวงการเทคไปอย่างหมดจด


แหล่งอ้างอิง






ข่าวแนะนำ