TNN อัตราการเกิดญี่ปุ่นเข้าขั้นวิกฤต 8 ปีติดต่อกัน

TNN

World

อัตราการเกิดญี่ปุ่นเข้าขั้นวิกฤต 8 ปีติดต่อกัน

อัตราการเกิดญี่ปุ่นเข้าขั้นวิกฤต 8 ปีติดต่อกัน

อัตราการเกิดในญี่ปุ่นอยู่ใน ‘ขั้นวิกฤต’ ดิ่งลงต่ำสุดเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขด้วยการมอบสิทธิประโยชน์มากมายสำหรับคู่รักที่จะมีลูก

เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ระบุว่า อัตราการเกิดของประเทศอยู่ใน ‘ขั้นวิกฤต’ เนื่องจากอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงเรื่องการสนับสนุนช่วยหลือพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อเป็นแรงจูงใจให้หันมามีลูกมากขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดของญี่ปุ่น หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่คาดว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะพึงมีในชีวิต อยู่ที่ 1.2 เมื่อปีที่แล้ว ต่ำกว่าอัตรา 2.1 ที่จำเป็นต่อการรักษาจำนวนประชากร


ตัวเลขนี้ลดลงจาก 1.26 ในปี 2022 และเป็นการลดลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในประเทศที่มีประชากร 124 ล้านคน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบข้อมูลดังกล่าว ระบุว่า แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราการเกิด ถือว่าเป็นสถานการณ์วิกฤต ทั้งนี้ มีหลากหลายปัจจัย เช่น การไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความยากลำบากในการทำงาน และการเลี้ยงดูบุตร อาจเป็นสาเหตุของตัวเลขที่กำลังลดลง 


สำหรับอัตราการเกิดที่ลดลง ถือเป็นแนวโน้มปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว และอัตราการเกิดของญี่ปุ่นยังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราที่ต่ำที่สุดในโลกที่ 0.72


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก รองจากโมนาโก จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องดิ้นรนหาวิธีที่จะกระตุ้นให้การเกิดของทารกมีจำนวนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตประชากรที่กำลังเกิดขึ้น


เมื่อวานนี้ รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ปกครองมากขึ้น ปรับปรุงการเข้าถึงบริการดูแลเด็กให้ดีขึ้น และเพิ่มสิทธิประโยชน์การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ถือเป็นการผลักดันล่าสุดของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมอัตราการเกิด ซึ่งเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เน้นย้ำว่า เป็นความเสี่ยงเร่งด่วนต่อสังคมญี่ปุ่น 


หนึ่งในความคิดริเริ่มของญี่ปุ่นในการเพิ่มอัตราการเกิดนั้น คือ แอปพลิเคชันหาคู่ที่พัฒนาโดยรัฐบาลกรุงโตเกียว ซึ่งจะเปิดตัวในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยผู้ใช้จะต้องส่งเอกสารที่พิสูจน์ว่าตนเป็นโสดตามกฎหมาย และลงนามในจดหมายระบุว่าตนเต็มใจที่จะแต่งงาน ส่วนการระบุรายได้ถือเป็นเรื่องปกติในแอปหาคู่ของญี่ปุ่น แต่กรุงโตเกียวจะต้องใช้ใบเสร็จรับเงินแสดงการจ่ายภาษีเพื่อพิสูจน์เงินเดือนประจำปีของผู้สมัครด้วย 


นอกจากนี้ จะต้องมีการสัมภาษณ์เพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทะเบียนสำหรับแอปพลิเคชัน ซึ่งได้เปิดให้ทดลองใช้งานฟรีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 

ข่าวแนะนำ