TNN ย้อนรอยสารเคมีรั่วไหลช็อกโลก สร้างความเสียหายประเมินค่าไม่ได้

TNN

World

ย้อนรอยสารเคมีรั่วไหลช็อกโลก สร้างความเสียหายประเมินค่าไม่ได้

ย้อนรอยสารเคมีรั่วไหลช็อกโลก สร้างความเสียหายประเมินค่าไม่ได้

เหตุสารเคมีรั่วไหลเกิดขึ้นหลายครั้งติดต่อกันในประเทศไทย แต่ในอดีตยังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นหลายแห่งในโลก

รถไฟตกราง มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ปี 2023 


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2023 เวลาเกือบ 3 ทุ่ม ขบวนรถไฟความยาว 150 ตู้ เผชิญกับข้อขัดข้องทางจักรกล ตกรางออกไป 38 ตู้ ในเขตเมืองปาเลสไตน์ตะวันออก มลรัฐโอไฮโอ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมี 20 ตู้ ที่บรรทุกสารอันตรายมากมาย การตกรางทำให้เกิดเพลิงไหม้ยาวนาน บางตู้ต้องใช้เวลาดับเพลิงถึง 2 วันเต็ม เพลิงไหม้ครั้งนี้ทำให้สาร ไฮโดรเจนคลอไรด์ และ ฟอสจีน ล่องลอยสู่อากาศ ซึ่งฟอสจีนถูกจัดเป็นอาวุธเคมี ที่ไม่มีสี เคยใช้เป็นแก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 


เหตุการณ์นี้อาจเทียบได้กับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986 หรือ “เชอร์โนบิล 2.0” แม้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศพยายามสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า สภาพอากาศของเมืองไม่ได้อยู่ในระดับอันตราย น้ำก็ดื่มได้ แต่ชาวเมืองก็ไม่สบายใจ ยังได้กลิ่นเหม็นของสารเคมีจนปวดศีรษะและคลื่นไส้ ปลาในห้วยหนองคลองบึงก็ตายหลายพันตัว สัตว์อื่นก็ตายบ้างล้มป่วยบ้าง ทำให้เหตุการณ์ล่าสุดนี้ก็กลายเป็นสงครามของสื่อกระแสหลัก กับสื่อฝ่ายขวาและโซเชียล ที่มีต่อความเสียหายครั้งนี้


ท่าเรือเบรุต เลบานอน ปี 2020


เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2020 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง นั่นคือ เหตุระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรตในท่าเรือเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน


แอมโมเนียมไนเตรต เป็นสารผสมระเบิดคล้ายระเบิดแสวงเครื่องถึง 2,750 ตัน ปริมาณนี้เทียบเท่ากับวัตถุระเบิด ทีเอ็นที 1.2 กิโลตันเลยทีเดียว 


หน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการตรวจสอบว่าการระเบิดครั้งนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.3 ส่งแรงสะเทือนออกไปไกลถึง 250 กิโลเมตร รับรู้ได้ถึง ตุรกี ซีเรีย อิสราเอล และบางส่วนของยุโรป ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ จึงประเมินว่า นี่เป็นการระเบิดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ทรงพลังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 


มีรายงานผู้เสียชีวิตถึง 207 ราย และบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 7,500 คน ผู้พลัดถิ่นอีกราว 3 แสนคน


สำหรับสารผสมระเบิดแอมโมเนียมไนเตรตนี้ เป็นของกลางที่รัฐบาลเลบานอนยึดไว้จากเรือ MV Rhosus ติดธงมอลโดวา ไว้ที่โดยปราศจากมาตรฐานความปลอดภัยมา 6 ปี ไว้ที่ท่าเรือเบรุต ที่นี่เป็นจุดผ่านหลักทางทะเลเข้าสู่เลบานอน มีทั้งฐานทัพเรือเบรุต และแหล่งสำรองข้าวสาลีทางยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย ประเมินค่าความเสียหายทรัพย์สินราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 540,000 ล้านบาท 


แท่นขุดเจาะก๊าซ นครฉงชิ่ง จีน ปี 2003


แก๊ซพิษรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปิโตรไชนา ในนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อกลางดึกวันที่ 23 ธันวาคม ก่อนคริสต์มาสของปี 2003 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 233 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาภาวะแก๊สพิษถึง 9,000 คน เนื่องจากสูดดม ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ แก๊สไข่เน่า ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ ระคายเคืองดวงตา และมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ จนถึงอันตรายร้ายแรงหากสูดดมในปริมาณมากด้วย

ความร้ายแรงของแก๊สพิษทำให้ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ในระยะ 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดังกล่าวเป็นชนบททุรกันดาร ที่การสัญจรและสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายสำนักข่าวจึงเผยแพร่ภาพผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายตามท้องถนนและพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในหมู่บ้านเซียวหยางที่อยู่ติดกับแท่นขุดเจาะ ซึ่งชาวบ้าน 90% เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็ตายในขณะนอนหลับเวลากลางคืน 


ส่วนคนที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องอพยพออกเป็นจำนวนราว 40,000 คน โดยปราศจากแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า ทำให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องแสวงหายานพาหนะเท่าที่ได้ในการอพยพเพื่อเอาชีวิตรอด จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากจะลืมสำหรับชาวฉงชิ่ง


โรงงานยาฆ่าแมลง เมืองโภปาล อินเดีย ปี 1984


ต่อมาเป็นอุบัติเหตุโรงงานที่ร้ายแรงที่สุดในโลกอย่าง ภัยพิบัติโภปาล ที่เกิดเหตุคือโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของ บริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ตั้งอยู่ในเมืองโภปาล เมืองหลวงของรัฐมัธยประเทศ ในอินเดีย เกิดเหตุแก๊สพิษ เมทิลไอโซไซยาไนด์ รั่วไหลจากถังเก็บ E610 ในโรงงาน เมื่อคืนวันที่ 2 ธันวาคม 1984 จนมีผู้เสียชีวิตทันที 3,787 รายตามการรายงานของหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐมัธยประเทศ และส่งผลกระทบถึงประชาชนโดยรอบมากกว่า 500,000 คน


ส่วนในทางคดีความนั้น ผ่านไป 24 ปี ศาลอินเดียพิพากษาตัดสินจำเลย คือ อดีตพนักงานของบริษัท ยูเนียนคาร์ไบด์ 7 คน รวม วอร์เรน แอนเดอร์สัน อดีตประธานบริษัท มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 73,000 บาท ซึ่งเป็นบทลงโทษสูงสุดตามกฎหมายอินเดียในขณะนั้น 


โรงงานปฏิกรณ์เคมี เมืองเซเวโซ อิตาลี ปี 1976


โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีรายงานสัตว์ล้มตายถึง 70,000 ตัว นั่นคือ เหตุการณ์ที่โรงงานปฏิกรณ์เคมี ในเมืองเซเวโซ ในภูมิภาคลอมบาร์ดีของอิตาลี 


พบการรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดของ 2,3,7,8-เตตระคลอโรไดเบนโซ-พารา-ไดออกซิน (TCDD) ในเขตเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1976 สาเหตุเนื่องจากเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของรอบการผลิตแล้วจึงปิดพัดลมระบายอากาศ จนทำให้เครื่องไอน้ำนั้นเดือดจัด อุณหภูมิทะลุ 300 องศาเซลเซียส จนทำให้ผนังโลหะของเครื่องปฏิกรณ์เคมีร้อนจัด วาล์วระบายแรงดันจึงเปิดออก แล้วสารเคมีปริมาณ 6 ตันก็แพร่กระจายสู่ชุมชนในระยะ 18 ตารางกิโลเมตร 


ทางการก็แบ่งจำแนกเขตพื้นที่ผลกระทบออกเป็นโซน A B และ R ตามระดับความเข้มข้นของสารเคมีที่รั่วไหล แม้ผลกระทบต่อคนจะมีเพียง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ระคายเคืองตา และผิวหนังอักเสบ แต่กับสัตว์โดยเฉพาะกระต่ายกับปศุสัตว์นั้น ตายทันที 3,300 ตัวในเดือนเดียว หลังจากนั้น ทางการต้องดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของสาร TCDD เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จึงต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ฆ่าสัตว์ไปมากกว่า 70,000 ตัว รวมฆ่าไปทั้งหมดเกือบ 80,000 ตัวเลยทีเดียว 


เหตุการณ์ในอิตาลี จึงนำมาสู่การศึกษาและยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในโรงงานโดยประชาคมยุโรปในปี 1982 ก่อนปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในปี 1996, 2008 และ 2012 ในฉบับล่าสุดด้วย


  • โรงงานผลิตเชื้อเพลิงจรวด เมืองเฮนเดอร์สัน รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ปี 1988


PEPCON โรงงานผลิตเชื้อเพลิงจรวด สำหรับโครงการด้านอวกาศ เกิดระเบิดเมื่อปี 1988 เนื่องจากเชื้อเพลิงไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐาน เมื่อช่างกำลังสร้างตู้เก็บเชื้อเพลิงใหม่ ทำให้เกิดการติดไฟระเบิดขึ้นมา


ผลคือทำให้เกิดการระเบิดขนาดใหญ่เทียบเท่ากับความแรงของแผ่นดินไหว 3.5 ริกเตอร์ รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนไปไกลกว่า 800 กิโลเมตร นอกจากนี้เปลวไฟทำให้เกิดควันและกลิ่นไหม้ไปไกลหลายกิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในโรงงานสารเคมี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 372 คนและสร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,600 ล้านบาท


  • โรงงานวิลเลียม โอเลฟินส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา


โรงงานเกิดระเบิดหลังจากที่หม้อไอน้ำใหม่เกิดรอยแตกร้าว มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 114 ราย 


คณะกรรมการความปลอดภัยทางเคมีของสหรัฐฯ สรุปว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากตัวแลกเปลี่ยนความร้อนสำรองเต็มไปด้วยไฮโดรคาร์บอน เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนนี้แยกออกจากเครื่องลดแรงดัน และไม่นานหลังจากที่ตัวแลกเปลี่ยนความร้อน ร้อนขึ้นด้วยน้ำร้อน ไฮโดรคาร์บอนก็เกิดประกายไฟเป็นไอ ทำให้ตัวแลกเปลี่ยนความร้อนแตกออก และระเบิดได้


แรงระเบิด รู้สึกได้ไกลออกไปหลายกิโลเมตร ทางการสั่งให้ผู้พักอาศัยภายในรัศมี 3.2 กม. ของโรงงานอยู่ในบ้านเท่านั้น


  • โรงงานสารเคมีในจังหวัดเฮียวโกะ ญี่ปุ่น


โรงงานสารเคมีของบริษัทนิปปอน โชคุบาอิในเมืองฮิเมจิ เกิดระเบิดขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บมากกว่า 30 คน คนงาน 500 คนต้องอพยพโดยด่วน


เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามดับไฟ ขณะถังบรรจุกรดอะคริลิกเกิดระเบิด และเกิดระเบิดตามมาอีกสองครั้ง


ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างโศกนาฏกรรมเหตุสารเคมีรั่วไหลครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความสูญเสียเหล่านี้ไม่เป็นเพียงแต่บาดแผลของครอบครัวผู้สูญเสียเท่านั้น แต่ยังเป็นบทเรียนสำคัญให้กับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยต่อสารเคมีที่อันตราย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีก


———


ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ