TNN “พื้นที่สงคราม” ของอิสราเอล-อิหร่าน อาจอยู่บน “ไซเบอร์สเปซ”

TNN

World

“พื้นที่สงคราม” ของอิสราเอล-อิหร่าน อาจอยู่บน “ไซเบอร์สเปซ”

“พื้นที่สงคราม” ของอิสราเอล-อิหร่าน อาจอยู่บน “ไซเบอร์สเปซ”

อาจมีความเป็นไปได้ว่า อิสราเอล อาจดำเนินการอีกระลอก ที่ไม่ใช่ด้วย “ทางกายภาพ” แต่อาจสวนกลับที่เน้นการโจมตีด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการเคลื่อนกองกำลังทางทหาร แต่อาจมากระทำในพื้นที่ “ไซเบอร์สเปซ” ก็เป็นได้

เหตุโจมตีอิหร่าน เมื่อวันศุกร์ (19 เมษายน) ที่ผ่านมา แม้อิหร่านยังไม่ได้ชี้นิ้วชัดเจนว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล และอิสราเอลก็ไม่ได้ออกมายอมรับว่าเป็นฝีมือของตนก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่แน่ชัดว่า นี่เป็นฝีมือใคร


เหตุโจมตีล่าสุดนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นบนดินแดนของอิหร่าน หากแต่ความคุกรุ่นก็ยังไม่ได้จางหายไป


และก็ยังอาจมีความเป็นไปได้ว่า อิสราเอล อาจดำเนินการอีกระลอก ที่ไม่ใช่ด้วย “ทางกายภาพ” แต่อาจสวนกลับที่เน้นการโจมตีด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการเคลื่อนกองกำลังทางทหาร แต่อาจมากระทำในพื้นที่ “ไซเบอร์สเปซ” ก็เป็นได้


สิ่งนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร?


สงครามแบบดิจิทัล


“ไม่ว่าสิ่งที่อิหร่านและอิสราเอลกระทำจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่ส่อนัยว่า ทั้งสองเผยให้เห็นการเชื่อมั่นการทำสงครามในไซเบอร์สเปซว่ามีผลกระทบร้ายแรงน้อยกว่าทางกายภาพ ดังนั้น ทั้งสองจึงคาดหวังการตอบโต้ที่อ่อนด้อยกว่าจากอีกฝ่าย”


ข้างต้น เป็นคำกล่าวของ ชาร์ล ไฟร์ลิช ผู้เขียนหนังสือ Israel and the Cyber Threat: How the Startup Nation Became a Global Cyber Power ที่ชี้ให้เห็นว่า การทำสงครามในไซเบอร์สเปซนั้น มีข้อได้เปรียบมากกว่าการทำสงครามทางกายภาพแบบเดิม ๆ มากมายขนาดไหน


อย่าลืมว่า สงครามทางกายภาพ มีอัตรา “ความเสี่ยงสูง” ที่จะลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะ “การสูญเสีย” ทั้งอัตรากำลัง ยุทโธปกรณ์ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากโยกย้ายไปทำสงครามในไซเบอร์สเปซ นอกเหนือจากเรื่องการสูญเสีย ที่นอกจากจะไม่ได้กระทบในวงกว้าง แต่บางที ผู้ได้รับผลกระทบอาจ “ไม่ทันตระหนัก” ถึงการโจมตีดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ


ตัวอย่างเช่น การดำเนินนโยบายของเกาหลีเหนือ ที่มุ่งใช้แฮกเกอร์ ในการ “ก่ออาชญากรรมไซเบอร์” ปล่อยแรนซัมแวร์ ดูดเงินในบัญชี หรือปั่นป่วนตลาดทุนต่างประเทศ ผู้ได้รับผลกระทบส่วนมาก เกิดการตระหนักก็เมื่อสายด้วยกันทั้งนั้น


ทีนี้ หากเพิ่มดีกรีของการคิดเข้าไป จากระดับ “รัฐกระทำต่อบุคคล” เป็น “รัฐกระทำต่อรัฐ” อย่างการประกาศสงครามไซเบอร์ การรู้ทั้งรู้ หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับของล้ำสมัย ในบางครั้ง ก็ไม่อาจที่จะยับยั้งได้โดยง่าย


และเมื่อพิจารณาจาก “ประวัติศาสตร์ความมั่นคงของอิสราเอล” จะพบว่า อิหร่านได้มีการ “ตอดเล็กตอดน้อย” เรื่องความมั่นคงไซเบอร์มานานมากแล้ว


โดยเฉพาะกลุ่มแฮกเกอร์อิหร่าน “Cyber Aveng3rs” ที่สร้างวีรกรรมช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการเปิดเผยว่า พวกเขาเคยแฮก “ระบบไฟฟ้า” ทั่วทั้งอิสราเอล และทำให้ “ไฟฟ้าดับ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


รวมไปถึง กลุ่มแฮกเกอร์สัญชาติเดียวกันนาม “Nethunt3r” ที่ก็ได้ทำการแฮก “ไฟล์ PDF ลับ” ของกระทรวงกลาโหมอิสราเอล และปล่อยให้ “รั่วไหล” เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา


ส่วนฝั่งอิสราเอล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้มีการปรับปรุงระบบ “Stuxnet” ที่ได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2006 ด้วยเป้าประสงค์ในการ “ป้องกันภัยทางไซเบอร์จากอิหร่านโดยเฉพาะ” โดยพัฒนาร่วมกับ “สหรัฐอเมริกา” อย่างใกล้ชิด


มาถึงตรงนี้ จริงอยู่ที่ทั้งอิสราเอลและอิหร่านอาจจะ “เลือก” ทำสงครามผ่านไซเบอร์สเปซ แต่คำถามที่ตามมา นั่นคือ “การให้เหตุผลสนับสนุน (Justification)” เพียงประเด็นข้อได้เปรียบที่มากกว่าการทำสงครามทางกายภาพ เพียงพอหรือไม่?


สู้กันเพื่อวัดรอยเท้า


“อิสราเอลคือมหาอำนาจเทคโนโลยีในภูมิภาค ส่วนอิหร่านคือผู้ท้าชิงที่กำลังพุ่งขึ้นมา … อิหร่านยังเทียบอิสราเอลไม่เห็นฝุ่น แต่พวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาในด้านดังกล่าวอย่างมาก พวกเขาอาจจะกำลังเรียนรู้ที่จะวัดรอยเท้ากับอิสราเอลอยู่ตลอดปีนี้”


เบื้องต้น คือทรรศนะของโมฮัมเหม็ด โซลิมาน หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์เทคโนโลยีและความมั่นคงไซเบอร์ แห่ง Middle East Institute, Washington, D.C. ซึ่งทำให้คิดได้ว่า สิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องของ “สถานภาพ” บางอย่าง ไม่มากก็น้อย


นั่นเพราะ การที่จะ “ท้าทายหรือทำลาย” มหาอำนาจในด้านนั้น ๆ สิ่งที่ง่ายที่สุด นั่นคือ การสร้างวิถีแห่ง “การรบกวน” โดยการค่อย ๆ “แหย่” ไปเรื่อย ๆ วันนี้ไม่อาจสำเร็จ แต่ในภายภาคหน้าอาจสัมฤทธิ์ผลก็เป็นได้


และอีกอย่างที่สำคัญ นั่นคือ มีนัยกลาย ๆ ว่า สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ออกโรงที่จะเข้าร่วมสนับสนุนการตอบโต้อิหร่าน “อย่างจริงจัง” ดังนั้น ทางออกเดียวของอิสราเอลในการที่จะยกให้ความขัดแย้งนี้ “เป็นสงคราม” กับอิหร่าน มีเพียงไซเบอร์สเปซ 


แอนดรู โบรีน อดีตหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้ชี้ชัดว่า “อิสราเอลไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งกองกำลังทหารจากสหรัฐฯ ใด ๆ เพราะเรื่องทางไซเบอร์พวกเขาเป็นเอก”


อย่างไรเสีย ไม่ว่าจะรุนแรงถึงขั้นเรียกว่าสงครามไซเบอร์หรือไม่ แต่ประเด็นที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคง” เป็นสิ่งที่ต้องระแวงอย่างมาก


เพราะหากพลาดเพียงเล็กน้อย นอกจากจะตกเทรนด์ ยังอาจจะ “ตกเป็นเหยื่อ” ได้อีกด้วย


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง