TNN World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เซวอลระทม! เกาหลีใต้ “เรียนรู้” สิ่งใด? ครบ 10 ปี เหตุ “เซวอลอับปาง”

TNN

World

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เซวอลระทม! เกาหลีใต้ “เรียนรู้” สิ่งใด? ครบ 10 ปี เหตุ “เซวอลอับปาง”

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: เซวอลระทม! เกาหลีใต้ “เรียนรู้” สิ่งใด? ครบ 10 ปี เหตุ “เซวอลอับปาง”

เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดการตระหนักว่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย (The only thing that we learn from history is that we learn nothing from history)

คำกล่าวของ ยอร์ช วิลเฮม ฟรีดีช เฮเกล นักปรัชญาผู้เลื่องชื่อแห่งเยอรมนี มีอิทธิพลอย่างมากในการทำความเข้าใจสังคม นั่นเพราะ บ่อยครั้ง เวลาที่เกิด “อุบัติเหตุหรือวิกฤต” บางอย่าง ผู้คนมัก “ให้ความสนใจ” เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะออกมาตรการต่าง ๆ มามากโขเพื่อ “แก้ลำ” สถานการณ์ 


หากแต่เมื่อกาลเวลาไหลผ่านไป เรากลับลืมเลือน ไม่ให้ความสำคัญไปอย่างง่ายดาย


เหตุการณ์ “เซวอลอับปาง” เมื่อปี 2014 ในเกาหลีใต้ ได้สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก ท่ามกลางการตั้งคำถามตั้งแต่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางทะเล การสร้างความรับผิดรับชอบ การให้ความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่ง การปฏิบัติตนของ “ผู้นำ” ยามเกิดวิกฤต


คำถามที่ตามมา คือ เมื่อผ่านไปแล้ว 10 ปี เกาหลีใต้ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้หรือไม่? อย่างไร?



--- นโยบายทางการเมืองมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน --- 


หลายครั้งหลายครา ผู้คนมักจะบอกว่า “การเมืองส่งผลต่อชีวิต” แต่น้อยคนจริง ๆ ที่จะ “พิสูจน์” กรณีศึกษาได้อย่างแจ่มชัดว่า ส่งผลอย่างไร มากน้อยเพียงไร ส่วนใหญ่ก็ “เพ้อเจ้อ” ตามกระแสทั้งนั้น


กรณีเซวอล ดูเผิน ๆ จะเหมือนว่า เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด สามารถ “ติดตามตรวจสอบ” ได้ว่า เป็นผลมาจาก “นโยบายทางการเมือง” ของ อี มย็อง บัก อดีตประธานาธบดีเกาหลีใต้ ช่วงปี 2008-2013


ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะมีการทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเป็นข้อเสนอของ ยุน คย็อง อี แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในบทความ The Sewol Disaster: Predictable Consequences of Neoliberal Deregulation โดยชี้ชัดว่า 


ในสมัยของ อี ม็อง บัก มีการออก “นโยบายเสรีนิยมใหม่ หรือ ที่เรียกว่า เอ็มบีโนมิกส์” ที่จะ “ลดบทบาทของรัฐในภาคเอกชนลง” จากแต่เดิม รัฐเป็นผู้ “ประกันเงินกู้” ให้บริษัทเอกชนมาโดยตลอด หลังจากนี้ ต้องหาทุนเอง แต่จะมีการ “เก็บภาษีอัตราถดถอย” คือยิ่งรวยยิ่งจ่ายน้อย เพื่อให้ไปเพิ่มการลงทุนและการจ้างงานในประเทศ


อีกทั้ง รัฐจะ “ลดมาตรการ” ที่เป็นอุปสรรต่อการทำธุรกิจลง หนึ่งในนั้นคือ การลดมาตรการ “ตรวจสอบมาตรฐาน” สินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็กในการลงทุนในภาคส่วนธุรกิจนั้น ๆ ให้มากขึ้น เพราะหากมาตรฐานสูง บริษัทแนวนี้ก็ยากจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นได้


เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการ “พาณิชย์นาวีและการต่อเรือ” ย่อมได้เปรียบอย่างมาก เพราะจากการลดมาตรการการตรวจสอบมาตรฐาน ทำให้สามารถ “ย้อมแมว (Refurbish)” โกงอายุการใช้งานเรือ ได้อย่างสบาย บางลำอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็ยังสามารถนำมาดำเนินกิจการได้


บริษัท ชองแฮจินเดินสมุทร (The Cheonghaejin Marine Corporation) ได้กระทำการเช่นนี้กับ “เรือเซวอล” โดยซื้อซากและเครื่องยนต์เรือลำนี้ที่มีอายุเกิน 30 ปี มาขัดสีฉวีวรรณเสียใหม่ และออกให้บริการในปี 2012 


แน่นอน การที่เรือมีสภาพอายุการใช้งานที่นานโข เสียจนต้องปลดระวาง ทั้งยังไม่ได้มีการตรวจสอบจากภาครัฐอย่างมากเพียงพอจากนโยบายภาครัฐ เช่นนี้ ทำให้คิดได้ว่า “ความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการเดินเรือ ย่อม “มีมากขึ้น” ตามไปด้วยเช่นกัน


หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น ย่อมรอดตัวไป หากแต่เรือเซวอลนั้น ได้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นที่มาของการติดตามตรวจสอบดังกล่าว


ผลที่ตามมา นั่นคือ ได้เกิดการ “ตระหนักรู้” ของประชาชนเกาหลีใต้ว่า “นโยบายทางการเมือง” ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน “มากกว่าที่คิด” ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศ “แห่งการประท้วง” เดินไปที่ใด ก็จะมีม็อบทุก ๆ 500 เมตร แต่ส่วนใหญ่ มักจะประท้วงในเรื่อง “ของกลุ่มตน” อาทิ การขึ้นค่าแรง การเพิ่มวันหยุด หรือการเพิ่มวันลาคลอด


แต่ครั้งนี้ เป็นการประท้วงเรื่องนโยบายทางการเมืองแบบจริงจัง ซึ่งลุกลามใหญ่โตเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวดวงเทียนแห่งแสง (The Candlelight Movement)” เพื่อขับไล่ประธานาธิบดี พัค กึน ฮเย ที่ดำรงตำแหน่งในเวลานั้นเลยทีเดียว


เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ได้เสนอถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ ไว้ในงานศึกษา สองโคริยาประชาธิปไตย: พลวัตการเคลื่อนไหวในชุมนุมดวงเทียนจรัสแสง 2016-2017 ประมาณว่า การเคลื่อนไหวก่อนจะลุกลาม มีที่มาจากการชุมนุมเรียกร้องการรับผิดชอบของรัฐต่อกรณีเซวอลอับปาง โดยมีการแจก “ริบบิ้นสีเหลือง” เพื่อแสดงพลัง ก่อนที่จะมีการขุดคุ้ยว่า พัค กึน ฮเย ไม่ได้ออกตรวจราชการในเหตุการณ์ เพราะมัวแต่ไปทำ “เบบี้เฟซ” จึงทำให้บานปลายในที่สุด


เรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า บางที “การกำหนดนโยบายภาครัฐ” ที่ดูจะเป็นเรื่อง “ไกลตัว” ของประชาชน อย่างการปรับลดมาตรการตรวจสอบความปลอดภัย จะทำให้เพิ่มโอกาส “สร้างภยันตราย” อย่างคาดไม่ถึงได้ถึงเพียงนี้ 


แน่นอน ในตอนที่ อี มย็อง บัก แถลงนโยบาย ประชาชนอาจไม่ได้สนใจอะไรมากมาย ทั้งยังอาจจะส่งผลดี ในเรื่องของการเพิ่มการจ้างงาน หรือการลงทุน เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกินกว่าจะรับไหวขึ้นมา จึงจะเล็งเห็นว่า บางที “หายนะระดับเล็ก ๆ” ก็สามารถเกิดขึ้นได้จาก “อะไรใหญ่ ๆ” ไม่น้อยเช่นกัน



--- ภาคประชาสังคมส่งเสียงดังขึ้น จากอุบัติเหตุ --- 


อีกประเด็นที่ขาดไปเสียไม่ได้ นั่นคือ โดยส่วนมากนั้น “ภาคประชาสังคม” มักจะเกิดหรือรวมกลุ่มขึ้นมาจาก “การเรียกร้องผลประโยชน์ที่ตรงกัน” อาทิ การเรียกร้องจำนำข้าว สมัชชาคนจน หรือ #MeToo


หากแต่ไม่มีที่ใดเลย นอกเหนือไปจากเกาหลีใต้ ที่จะสร้างการรวมกลุ่มภาคประชาสังคม บนฐานของ “อุบัติเหตุ” ที่เกิดขึ้น


ศูนย์สิทธิของเหยื่อในเหตุการณ์วิกฤต (แชนัน ชัมซา พิเฮจา ยอนแด: 재난 참사 피해자 연대) ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2024 โดยเป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ ใน 8 วิกฤตการณ์สำคัญของประเทศ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงของภาครัฐ ทั้งยังจะให้การช่วยเหลือ บรรดาเหยื่อหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หากเกิดกรณีแบบเดียวกับเซวอลอับปางขึ้นอีกครั้ง


ตรงนี้ นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของภาคประชาสังคมในประเด็นการประสบกับวิกฤต เพราะส่วนใหญ่ มักจะเรียกร้องกันเป็นรายบุคคลไป ไม่ก็เป็นกลุ่มเล็กน้อย ไม่ได้ขยายวงกว้างถึงขนาดตั้งเป็น Organise เช่นนี้


เมื่อมาถึงตรงนี้ อย่างน้อยที่สุด เกาหลีใต้ก็ได้ “เรียนรู้” ประการหนึ่งว่า “บาดแผลทางจิตใจ” เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อ แต่ “การทำให้บาดแผลนี้เป็นประเด็น” จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ต่อประชาชนได้ว่า “ยังมีประเด็นที่รัฐต้องสะสาง” ดำรงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


—————


บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล

ภาพ: Reuters


แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Challenges of Modernization and Governance in South Korea : The Sinking of the Sewol and Its Causes

หนังสือ ประชาธิปไตยและกระแสอนุรักษ์นิยมในเอเชียตะวันออก

บทความ Public Trauma after the Sewol Ferry Disaster: The Role of Social Media in Understanding the Public Mood

1, 2

ข่าวแนะนำ