TNN 26 ปี อินโดฯ ไร้รัฐประหาร เดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย หลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหาร

TNN

World

26 ปี อินโดฯ ไร้รัฐประหาร เดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย หลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหาร

เป็นเวลา 32 ปีที่อินโดนีเซียเคยอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหาร แต่หลังจากการปฏิวัติของประชาชน ประเทศก็ก้าวสู่เส้นทางประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ และไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกเลยจนถึงตอนนี้ 

เพราะอะไร อินโดนีเซียถึงได้กลายเป็นเป็นประเทศที่เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีทหารเข้ามาแทรกแซงอีกเลย กับ 26 ปี เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย 


ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างมาก ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในอาเซียน แต่กว่าที่อินโดนีเซียจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางการเมืองมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ประกาศเอกราชแยกตัวจากเนเธอร์แลนด์ในปี 1945


ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอินโดนีเซีย หลังประกาศอิสรภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ยุค ได้แก่ 


---ยุคประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (ปี 1949-1958)---


ยุคประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ยุคประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อยู่ในช่วงระหว่างปี 1949-1958 4 ปีหลังจากประกาศเอกราช และสงครามประกาศอิสรภาพกับเจ้าอาณาณิคมเดิมอย่างเนเธอร์แลนด์ได้สิ้นสุดลง เป็นช่วงเวลาที่อินโดฯ ได้จัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 1955 ซึ่งมีพรรคการเมืองที่เข้าลงแข่งขันทั้งหมด 52 พรรค โดยมี 4 พรรคใหญที่ชนะการเลือกตั้งในขณะนั้น ได้แก่  


  1. 1. พรรคแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ PNI ด้วยคะแนนเสียง 22.3% 
  2. 2. พรรคมาชูมี หรือ สภาแห่งสมาคมมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย  ด้วยคะแนนเสียง 20.9%
  3. 3. พรรคนาฮ์ดาตุล อูลามา หรือ NU  ด้วยคะแนนเสียง 18.4%
  4. 4. พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย หรือ PKI ด้วยคะแนนเสียง 16.4% 


ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ครองเสียงข้างมากในสภา ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย และเกิดความแตกแยกทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกองทัพและพรรค PKI 


นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเผชิญปัญหากลุ่มกบฎในหลายพื้นที่ จนทำให้ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดฯ และวีรบุรุษผู้ประกาศเอกราชให้แก่ประเทศ ได้ประกาศกฎอัยการศึกในปี 1957 ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และทำให้การเมืองอินโดฯ ก้าวสู่ยุคต่อไปคือ “ยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำ”


---ยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำ  (ปี 1959-1965)---


ยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำ เริ่มขึ้นในปี 1959 ซึ่งเป็นระบอบที่ซูการ์โนได้เสนอขึ้นมา หวังทำให้การเมืองภายในประเทศมีความเสถียรภาพ ด้วยการดึงตัวแทนจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าสู่สภา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ กองทัพอินโดนีเซียยังสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะเชื่อว่า กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ จะรักษาสมดุลความแข็งแกร่งที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้ 


ซูการ์โน เชื่อว่า ระบบรัฐสภาในสมัยประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเวลานั้น 


ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำของซูการ์โน ได้นำหลักชาตินิยม ศาสนา และคอมมิวนิสต์ มาผสมผสานให้กลายเป็นแนวคิดเดียวของรัฐบาล พร้อมกลับนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 1945 กลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยวิธีนี้ทำให้เขามีอำนาจมากขึ้น และกองทัพได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองเพิ่มขึ้นในยุคนี้


ถึงกองทัพจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ซูการ์โนก็ตระหนักดีถึงความไม่มั่นคง หากกองทัพแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องพึ่งพาพรรค PKI ในการคานอำนาจของกองทัพด้วยเช่นกัน  


แม้ซูการ์โนพยายามจะวางตัวเป็นกลาง และสร้างความสมดุลระหว่างหลายฝ่าย แต่ในปี 1965 ชะตาการเมืองของอินโดฯ ก็ต้องเปลี่ยนไปอีกครั้ง 


ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานกว่า 600% ในเย็นวันที่ 30 กันยายน เกิดความพยายามในการทำรัฐประหาร เมื่อกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการ 30 กันยายน ลักพาตัวและสังหารนายพลอาวุโสระดับสูง 6 นาย และพลทหาร 1 นาย พร้อมจัดตั้งสภาปฏิวัติ แต่พลเอกซูฮาร์โต นายพลคนสำคัญในขณะนั้น ได้ทำการปราบปรามกลุ่มดังกล่าวอย่างรวดเร็ว


ขณะนั้น มีการกล่าวโทษว่า พรรค PKI อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวดังกล่าว และนั่นเป็นจุดที่ทำให้พรรค PKI ต้องสิ้นสุดลง ไปพร้อมกับอำนาจของซูการ์โนที่ค่อย ๆ อ่อนแอลง จนนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจด้วยการรัฐประหารของนายพลซูฮาร์โตในปี 1966 ก้าวเข้าสู่ยุคระเบียบใหม่ ที่ทำให้ประเทศต้องติดอยู่ในระบอบเผด็จการนานถึง 32 ปี 


---ยุคระเบียบใหม่ (ปี 1966 - พฤษภาคม 1998)---


การขึ้นสู่อำนาจของนายพลซูฮาร์โต ถูกจดจำว่า เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มืดมนสุดในด้านมนุษยธรรมของอินโดฯ ผลพวกจากความพยายามทำการรัฐประหารในปี 1965 ทำให้ซูฮาร์โตเลือกที่จะยึดอำนาจในประเทศ และทำการปราบปรามต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และกลุ่มคนที่เห็นใจผู้ถูกจับกุม  ซึ่งซูฮาร์โตมองว่า บุคคลเหล่านี้เป็นภัยคุกคาม โดยมีการคาดการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวมากถึง 1 ล้านคน 


หลังการยึดอำนาจของซูฮาร์โต เขาได้ทำให้กองทัพเข้ามาปกครองประเทศ แต่งตั้งให้นายพลเป็นสมาชิกรัฐสภา ทั้งยังแต่งตั้งในตำแหน่งของพลเรือนหลายตำแหน่ง และยังได้นำหลักปัญจสีลา มาทำให้กลายเป็นเครื่องมือกวาดล้างผู้เห็นต่างกับรัฐบาล 


ทั้งนี้ จากบทความของสารานุกรมอาเซียน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ระบุว่า ปัญจสีลา คือ 5 อุดมการณ์หรือปรัชญาแห่งรัฐของอินโดนีเซีย ถูกประกาศให้เป็นหลักการที่ยึดถือโดยทั่วกันในประเทศอินโดนีเซียโดยซูการ์โน แต่อุดมการณ์นี้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังสมัยเผด็จการซูฮาร์โต เพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ประกอบไปด้วย 


  1. 1. นับถือพระเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียว
  2. 2. เป็นมนุษย์ที่เจริญและเที่ยงธรรม
  3. 3. ความเป็นเอกภาพของอินโดนีเซีย
  4. 4. อำนาจอธิปไตยของปวงชนซึ่งบริหารโดยนโยบายทรงปัญญาที่มีมาจากการใคร่ครวญและเห็นพ้องกัน
  5. 5. ความยุติธรรมทางสังคมต่อชาวอินโดนีเซียทั้งมวล


การครอบงำของซูฮาร์โตทำให้เห็นว่า ทหารได้เข้ามาควบคุมทั้งระบบสังคมการเมือง และความมั่นคงของประเทศ ซูฮาร์โตได้ขยายอำนาจของกองทัพเพิ่มขึ้นจากยุคประชาธิปไตยแบบชี้นำ เพื่อทำให้เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองไปได้อย่างยาวนาน 


ถึงอย่างไรก็ตาม เขาได้จัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในยุคของเขา แต่ก็ถูกมองว่า เป็นเพียงเพื่อทำให้ดูเหมือนรักษาความเป็นประชาธิปไตยอันเปราะบางของประเทศเท่านั้น และแรงสนับสนุนจากกองทัพ ทำให้เขาและพรรคกอลคาร์ ที่เขาสังกัด ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว


แม้ว่าซูฮาร์โตจะถูกจดจำในฐานะผู้นำเผด็จการของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกในช่วงยุคสงครามเย็น และยังทำให้ระบบการเมืองมีความเสถียรภาพ 


เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษปี 1990 อำนาจของซูฮาร์โตเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ จากปัญหาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด รวมถึงการคอร์รัปชันที่เอื้อผลประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง 


ในที่สุด เมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤตทางการเงินในเอเชีย ปี 1997 หรือที่เรารู้จักในชื่อ วิกฤตต้มยำกุ้ง  เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว รวมถึงปัญหาต่างที่สะสมมาเรื่อย ๆ ส่งผลให้ประชาชนเกิดการลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาล จนทำให้ซูฮาร์โตประกาศลงจากตำแหน่ง ในเดือนพฤษภาคม ปี 1998 และมอบอำนาจให้บีเจ ฮาห์บีบี รองประธานาธิบดีของเขาในขณะนั้น สิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ และการปกครองที่ยาวนานถึง 32 ปี ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูป ที่ทำให้ประชาธิปไตยในอินโดฯ เบ่งบานมาจนถึงทุกวันนี้ 


---ยุคปฏิรูป (ปี 1998 - ปัจจุบัน)---


หลังการล่มสลายของซูฮาร์โต ฮาห์บีบี เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เขาต้องขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ และตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสาธารณชนในการเปลี่ยนผ่านระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย


แม้จะอยู่ในอำนาจเพียง 17 เดือน แต่ฮาห์บีบีก็ได้ปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญ โดยเริ่มจากการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ยกเลิกข้อจำกัดในเสรีภาพสื่อ ปูทางให้ประเทศจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้อินโดฯ มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนับตั้งแต่นั้นมา 


---ไร้รัฐประหารนานเกือบ 3 ทศวรรษ---


เป็นเวลาเกือบ 26 ปี ที่อินโดฯ ไร้การรัฐประหาร และไม่เคยถูกแทรกแซงทางการเมืองจากกองทัพอีกเลย  และมีการเลือกตั้งมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง โดยประธานาธิบดีที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ได้แก่


  1. 1. อับดูร์ราฮ์มัน วาฮิด ดำรงตำแหน่งปี 1999-2001
  2. 2. เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ดำรงตำแหน่งปี 2001-2004
  3. 3. ซูซิโล บัมบัง ยุตโดโยโน ดำรงตำแหน่งปี 2004-2014
  4. 4. โจโก วิโดโด ดำรงตำแหน่งปี 2014-ปัจจุบัน 


ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้อินโดฯ ไร้รัฐประหารนานถึง 26 ปี ว่า หลังการลงอำนาจของซูฮาร์โต อินโดฯ ไม่น่าเผชิญกับการรัฐประหารได้อีก เพราะเหมือนเป็นสำนึกร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มองว่า สิ่งนี้ไม่สามารถทำได้ อีกประการหนึ่งคือ ไม่มีกองกำลังทหารที่มีอำนาจมากพอ ในการที่จะลุกขึ้นมา เพื่อทำการรัฐประหารได้ 


“พอหลังจากที่ซูฮาร์โตลงจากตำแหน่ง มีการปฏิรูปกองทัพอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1999 จนถึงประมาณปี 2009 ซึ่งใช้เวลายาวนาน มันอาจจะไม่ทำให้ทหารหายไปจากสังคมเลย เพราะว่ายังไงก็ต้องมีกองทัพ แต่ว่าบทบาทหน้าที่ของกองทัพได้หายไปเยอะ โดยเฉพาะในทางการเมือง” ผศ.ดร.อรอนงค์ กล่าว 


ผศ.ดร.อรอนงค์ กล่าวต่อไปว่า แม้บทบาททหารจะลดลง แต่ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่เสียงดังในสังคม แต่ถ้าจะให้เข้ามาอยู่ในอำนาจทางการเมืองเหมือนในอดีต เช่น สำรองที่นั่งให้กับทหารโดยที่ไม่มีการเลือกตั้ง คิดว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ยากในปัจจุบัน เพราะหนึ่งต้องใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ และสอง จะมีการประท้วงจากประชาชนค่อนข้าง เพราะคนอินโดฯ มีความตื่นรู้ทางการเมืองค่อนข้างสูง 


---จับตาผู้นำคนต่อไปของอินโดฯ---


ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่การเลือกตั้งทั่วไปจัดขึ้นอีกครั้งในอินโดฯ ทั่วโลกกำลังจับตาว่า ใครจะก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 4 ของโลก แทนที่โจโก วิโดโด ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำมาแล้ว 2 สมัย 


“ต้องดูว่าใครชนะ แต่เหมือนว่าผลสำรวจจะเทคะแนนไปทาง ‘ปราโบโว ซูเบียนโต’ ถ้าเกิดปราโบโวชนะ สภาพนโยบาย และการปกครองภายในประเทศน่าจะมีความเป็นชาตินิยมมากขึ้น เพราะปราโบโว เวลาที่เขาหาเสียงเขาจะเน้นเรื่องพวกนี้ เน้นว่าคนอินโดนีเซียต้องมาก่อน คนอินโดนีเซียต้องได้ค่าจ้างที่มากขึ้น ลดการนำเข้าจากข้างนอก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ หรือว่า บทบาทของอินโดนีเซียในโลกด้วย” ผศ.ดร.อรอนงค์ กล่าว


จากการประท้วงของนักศึกษา และประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านระบอบเผด็จการเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว สู่การถอดถอนบทบาททางการเมืองของกองทัพ และอยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำจากประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้อินโดฯ ถูกมองในฐานะหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนประเทศให้ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ และก้าวหน้ามากที่สุดในกลุ่มอาเซียน 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: AFP


ข้อมูลอ้างอิง:

CNA, Science Direct, Wikipedia (1), Wikipedia (2), Wikipedia (3), Wikipedia (4), Wikipedia (5), Wikipedia (6), Britannica, Aseanpedia

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง