TNN online ‘เมื่ออสังหาฯ จีนกำลังสั่นคลอน’ จาก Evergrande สู่ Country Garden นักลงทุนหวั่นกระทบเศรษฐกิจครั้งใหญ่

TNN ONLINE

World

‘เมื่ออสังหาฯ จีนกำลังสั่นคลอน’ จาก Evergrande สู่ Country Garden นักลงทุนหวั่นกระทบเศรษฐกิจครั้งใหญ่

‘เมื่ออสังหาฯ จีนกำลังสั่นคลอน’ จาก Evergrande สู่ Country Garden นักลงทุนหวั่นกระทบเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวจีนทั่วประเทศต้องตกอยู่ในความตื่นตระหนก เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ของจีน อย่าง Country Garden พลาดการชำระหนี้มูลค่า 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 800 ล้านบาทเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาผ่อนผัน 30 วัน ก่อนจะกลายเป็นผิดนัดชำระหนี้ และล่าสุด บริษัท Evergrande ซึ่งปัจจุบันมีหนี้กว่า 10 ล้านล้านบาท ก็ได้ยื่นล้มละลาย เพื่อขอความคุ้มครองต่อศาลในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ภายใต้มาตรา 15 ตามประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ หลังได้เคยผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2021 ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดการเงินทั่วโลก

เหตุการณ์ของทั้ง 2 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ตัวเลขยอดขายบ้านของ 100 บริษัทชั้นนำด้านอสังหาฯ ในจีน ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 เมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ขณะที่ การลงทุนในภาคอสังหาฯ อยู่ที่ 6.77 ล้านล้านหยวน ลดลง 8.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 


---จาก Evergrande สู่ Country Garden---


หลังจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนเฟื่องฟูมานานหลายปี อุตสาหกรรมนี้ก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อปี 2020 หลังรัฐบาลจำกัดอัตราส่วนหนี้สิน 3 ประเภท ที่ใช้ชื่อว่านโยบาย ‘สามเส้นแดง’ หรือ ‘Three red lines’ เพื่อรัดกุมการให้กู้ยืมของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ หลังจากรัฐบาลเกิดความกังวลถึงการปล่อยกู้ที่มากเกินไปให้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย


1. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์สูงสุดที่ 70% โดยไม่รวมสินทรัพย์ล่วงหน้าจากโครงการที่ขายตามสัญญา


2. จำกัดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิที่ 100%


3. ต้องมีเงินสดอย่างน้อยเท่ากับเงินกู้ระยะสั้น


นโยบายดังกล่าว กระทบต่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน ทำให้ Evergrande เริ่มลดราคาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้มีเงินสดมาดำเนินกิจการต่อไปได้ และยังได้ขายหน่วยจัดการทรัพย์สิน 28% มูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.9 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายแล้ว บริษัทก็ได้ออกมาประกาศว่า มีหนี้อยู่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10 ล้านล้านบาท และต่อมาก็ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน หลังจากนั้น บริษัทอสังหาฯ เจ้าอื่น ๆ ในจีนอีกประมาณ 40% ก็เริ่มผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น โครงการบ้านและคอนโดหลายแห่งสร้างไม่เสร็จ ส่งผลกระทบต่อธนาคารและนักลงทุน ผู้เป็นเจ้าหนี้ 


ขณะที่ ข่าวลือเรื่องปัญหาการเงินของ Country Garden ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้หุ้นของบริษัทตกลง 75% จากระดับสูงสุดในเดือนมกราคมปีนี้ และเมื่อวันพุธ (15 สิงหาคม) ที่ผ่านมา ราคาหุ้นซื้อขายเหลือเพียง 0.83 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 3.77 บาท 


บริษัท Country Garden มีชื่อเสียงในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ตามเมืองชั้นที่ 2 และ 3 ของประเทศ โดยมีหนี้มูลค่ารวมทั้งหมด 1.91 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.79 ล้านล้านบาท น้อยกว่า Evergrande อยู่ราว 41% แต่ก็มีจำนวนโครงการที่ดูแลอยู่ที่ 3,121 โครงการ ซึ่งมากกว่า Evergrande ที่ดูแลอยู่ประมาณ 800 โครงการ 


อย่างไรก็ตาม การประสบปัญหาทางการเงินอย่างรวดเร็วของ Country Garden ไม่ได้ทำให้ตลาดรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีของ Evergrande เนื่องจากบริษัทผู้พัฒนาหลายแห่งมีการผิดนัดชำระหนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เหตุการณ์ของ Country Garden เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดกำลังย่ำแย่


โดย Evergrande มีหนี้สินล้นตัวในช่วงที่ผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ Country Garden ยังคงมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่นักวิเคราะห์ ออกมาเตือนว่า Country Garden อาจล้มละลายได้ หากทรัพย์สินที่เหลืออยู่จำนวนมากมูลค่าลดลง และเข้าสู่สภาวะติดลบ หากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 


---จำนวนบ้านล้นตลาด-ราคาบ้านลดลง--- 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้ออสังหาฯ กลายเป็นหนึ่งในวิธีหลักของชนชั้นกลางจีน ที่ใช้ในการสะสมความมั่งคั่ง และสร้างความคาดหวังว่า มูลค่าที่ดินและบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ นักพัฒนาหลายรายจึงหันมาเร่งขยายตัวเมือง และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ผู้ที่สนใจต้องจ่ายเงินค่าบ้านในราคาเต็ม ก่อนที่บ้านหรืออะพาร์ตเมนต์จะถูกสร้างด้วยซ้ำ โดยภาคอุตสาหกรรมอสังหาฯ คิดเป็น 30% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเทศ และมากกว่า 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งในครัวเรือนผูกติดกับอสังหาริมทรัพย์ 


บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ อย่าง Evergrande และ Country Garden ก็มีความเชี่ยวชาญในการขายฝันของการเป็นเจ้าของบ้านให้แก่ประชาชนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในหลาย ๆ เมือง จำนวนบ้านที่สร้างนั้นเยอะมากเกินไปกับความต้องการ เมืองเล็กไม่สามารถแข่งขันกับเมืองใหญ่ ที่สามารถดึงดูดให้คนเข้ามาอาศัยได้ ทำให้หลายเมืองต้องตกอยู่ในสถานะ ‘เมืองผี’ หรือ ‘เมืองร้าง’ ซึ่งเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนที่ไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ 


ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การลดราคาอสังหาฯ ในจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย 70 เมืองใหญ่ มีการลดราคาอสังหาฯ ลงประมาณ 70% จากราคาของเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากขาดแคลนผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง 


ขณะเดียวกัน นโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ ก็ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลใจในการซื้อบ้าน หรือ คอนโดใหม่สักหลัง ในช่วงที่ต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และราคาสินทรัพย์ที่ตกต่ำลง


ซินเทีย ชาน นักวิเคราะห์จาก Daiwa Capital Markets ในฮ่องกง ระบุว่า การตกต่ำของอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ซื้อเกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพการงาน และรายได้ในอนาคต เนื่องจากการซื้อบ้าน ถือเป็นหนึ่งในการตัดสินใจซื้อสิ่งของที่ใหญ่สุดในชีวิต การเพิ่มแนวคิดนี้เข้าไป ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ซื้อว่า ราคาบ้านอาจจะลดลงอีก หลังจากที่ได้เห็นว่าราคาตกต่ำลงต่อเนื่องกว่าหนึ่งปี


---ความเชื่อมั่นในผู้ซื้อลดลง--- 


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อผู้ซื้อ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทผู้พัฒนาย่ำแย่ขึ้นไปอีก เพราะในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู บริษัทอสังหาฯ จีนหลายเจ้าได้กู้เงินจากธนาคารหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อเป็นเงินทุนในการก่อสร้างหลายโครงการ 


ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจอสังหาฯ ของจีน ทำให้ซัพพลายเออร์เกิดการค้างค่าชำระ โครงการหลายแห่งไม่สามารถสร้างต่อได้ และผู้ซื้อซึ่งมักจ่ายเงินค่าดาวน์บ้านไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้เข้าไปอาศัยอยู่ ในหลายร้อยเมืองรวมตัวคว่ำบาตรสัญญาการจำนอง เพื่อประท้วงการก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จสิ้น 


แดน หวัง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคาร Hang Seng กล่าวว่า นโยบาย ‘สามเส้นแดง’ ของรัฐบาล ประสบความสำเร็จในการลดภาระหนี้ในอุตสาหกรรมได้ในระดับหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ กลับทำให้สถานการณ์สภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ ตกต่ำลง 


---นักลงทุนแห่ถอนตัวออกจากกองทุนจีน--- 


ภายใน 14 วันแรกของเดือนสิงหาคม นักลงทุนรายหลายตัดสินใจถอนเงินลงทุนออกจากหุ้นจีน มูลค่ารวมกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.31 แสนล้านบาท เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาฯ ของจีน


เนื่องจากภาคธุรกิจอสังหาฯ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปัญหาทางการเงินของ Evergrande และ Country Garden ได้ทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องรับมือกับการระบาดของโควิด และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอยู่แล้ว อ่อนแอลงไปอีก  


โดยการถอนการลงทุนครั้งนี้ นับว่าเป็นการไหลออกของเงินทุนที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของจีน หลังที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนได้แห่ถอนการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2022 มูลค่ารวม 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท เมื่อจีนต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ 


นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การปราบปรามตามกฎข้อระเบียบ, การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง, และการยกระดับความตึงเครียดกับต่างประเทศ ก็มีส่วนที่ทำให้บรรดานักลงทุนเกิดความไม่สบายใจ และต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการลงทุน 


ทั้งนี้ หากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงขยายตัวออกไปนอกเหนือจากตลาดหุ้นจีน และกระทบต่อนักลงทุนทั่วโลก ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดตราสารทุนทั่วโลก การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในตลาดหุ้นจีน อาจทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน ส่งผลให้ตลาดหุ้นอ่อนแอลงทั่วโลก 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

Asia Nikkei, CNN, Reuters, The Guardian, Washington Post, CNBC, Economist

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง