TNN online คนแห่ขายคอนโดฯมือ2 โครงการใหม่พัทยาค้างสต็อก 1.9 หมื่นหน่วย

TNN ONLINE

Wealth

คนแห่ขายคอนโดฯมือ2 โครงการใหม่พัทยาค้างสต็อก 1.9 หมื่นหน่วย

คนแห่ขายคอนโดฯมือ2  โครงการใหม่พัทยาค้างสต็อก 1.9 หมื่นหน่วย

พิษโควิดคอนโดมิเนียมพัทยายอดขายหดโครงการใหม่ค้างสต็อก 1.9 หมื่นหน่วย หลังคนแห่ปล่อยขายมือ 2 เพิ่มขึ้น- หวังเปิดประเทศกำลังซื้อต่างชาติกลับคืนมา

นายณัฎฐา คหาปนะ  รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมพัทยาชะลอตัว โดยในช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนหน่วยขายใหม่ได้  25 % หรือเท่ากับ 1,032 หน่วย เทียบกับปี 63 โดยปกติส่วนใหญ่กลุ่มผู้ซื้อเป็นคนไทยจากกรุงเทพฯ มาซื้อเพื่อเป็นบ้านพักหลังที่ 2 เพียงกลุ่มเดียว และกำลังซื้อกลุ่มนี้ก็ลดลงไปทุกที


นอกจากนี้หลังจากโควิดแพร่ระบาดทำให้กลุ่มคนที่ซื้อคอนโดฯ เก็บไว้ก็ทยอยปล่อยขายคอนโดฯมือสองมากขึ้น ทำให้คอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จและเปิดขายใหม่ยังคงมีสต็อกค้างอยู่ในตลาด แม้จะมีการเสนอโปรโมชั่นหลายอย่างหรือลดราคาขายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถระบายสต๊อกออกได้ 


ขณะที่อุปทานสะสมของคอนโดมิเนียม บริเวณพัทยาตั้งแต่ก่อนปี 53 จนถึง เดือนพ.ค.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 118,026 หน่วย โดยในช่วงระยะเวลา 5 เดือนแรกของปี 64 ไม่พบอุปทานคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ โดยอุปทานส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในบริเวณจอมเทียนคิดเป็นอัตราส่วน  44 % ขณะที่ยอดขายสะสมจนถึง ณ เดือน พ.ค.ปี  64 คอนโดมิเนียมในพัทยาขายไปทั้งสิ้น 98,998 หน่วย จาก 118,026 หน่วย คิดเป็น  83.9 % เพิ่มขึ้น  0.9%  นับจากปี 63


จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพบว่า จำนวนหน่วยขายใน 5 เดือน ของปี 2564 มีขายได้ใหม่เพียง 1,032 หน่วยเท่านั้น คิดเป็น  25%  ของปี 63 สาเหตุหลักมาจากกลุ่มผู้ซื้อหลักที่เป็นชาวต่างชาติหายไปเป็นศูนย์ และยังไม่กลับมา อีกทั้งกลุ่มผู้ซื้อชาวไทยที่เหลืออยู่ก็มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเดือนพ.ค. 64 คอนโดมิเนียม ในพัทยามีจำนวนเหลือขายอยู่ 19,000 หน่วย คาดว่าหากไม่มีอุปทานใหม่เกิดขึ้นหน่วยเหลือขายที่เหลือจะใช้เวลาขายอีกประมาณ 3 ปีในการระบายสต๊อก หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ


สำหรับโครงการบริเวณหาดจอมเทียนเป็นบริเวณที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุด 7,474 หน่วย เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นบริเวณที่ยังมีพื้นที่เหลือให้พัฒนาได้อีกค่อนข้างเยอะและโครงการใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็เปิดในบริเวณนี้ ในขณะที่บางโครงการที่เปิดขายอยู่เดิม แต่ไม่สามารถไปต่อได้ จำเป็นต้องหยุดการขายหรือขายโครงการต่อให้นายทุนอื่นเข้ามาปรับรูปแบบและบริหารโครงการแทน


ส่วนราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในพัทยาทุกพื้นที่ ณ เดือนพ.ค.64 คอนโดมิเนียมที่เห็นวิวทะเลเฉลี่ยอยู่ที่ 111,039 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ปรับตัวลดลงจากปี 63ถึง  9.7 %  ขณะที่ราคาขายคอนโดมิเนียมที่เห็นวิวทะเลบางส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 69,154 บาทต่อ ตร.ม. ปรับตัวลดลง 13%  จากปี  63  โดยคอนโดมิเนียมที่ไม่เห็นวิวทะเลมีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 66,921 บาทต่อตร.ม. ปรับตัวลดลง 13.2 %  

          

ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ายังไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการในพัทยาส่วนใหญ่ เป็นนักลงทุนท้องถิ่น จึงเลือกที่จะชะลอตัวการเปิดโครงการและการพัฒนาพื้นที่ว่างไปก่อน แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบเอกชนรายใหญ่บางส่วนเข้าไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น ไอคอนสยาม ซึ่งมีแผนจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นาจอมเทียน เนื่องจากมองเห็นช่องทางการเติบโตในอนาคต ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย หรือ EEC ที่รัฐบาลผลักดันในช่วงที่ผ่านมา


ด้านการท่องเที่ยวทางภาครัฐ ก็มีแผนนำร่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ และมีโครงการสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะแต่ละประเทศก็ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยไปท่องเที่ยวประเทศอื่น 


ข่าวแนะนำ