TNN online ภาคเอกชน หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง เสนอรัฐกระตุ้นศก.6 ด้าน

TNN ONLINE

Wealth

ภาคเอกชน หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง เสนอรัฐกระตุ้นศก.6 ด้าน

ภาคเอกชน หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง เสนอรัฐกระตุ้นศก.6 ด้าน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง สัญญาณการฟื้นตัวไม่ชัดเจน เตรียมยื่นข้อเสนอรัฐบาล 6 ข้อ เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ ( 4 ธ.ค.62) นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยเป็นประธาน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกร. ได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจ โดย GDP ไตรมาส 3  ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี 2562  ทั้งการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจน    แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการ ชิมช้อปใช้ มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแรงบวกที่จะชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง โดยกกร.เห็นว่า  ในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลควรที่จะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า ให้ปรับตัวดีขึ้น และรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ กกร.เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค (ยกเว้นสินค้าบางประเภท อาทิ สุรา ยาสูบ เป็นต้น) รวมทั้งของขวัญปีใหม่ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ,  2.มาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และของนิติบุคคลไม่เกิน 5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ,  3.เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน อันจะส่งผลต่อห่วงโซ่มูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานในทุกจังหวัด โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ใช้ผู้รับเหมาจากในพื้นที่เท่านั้น (Local to Local) , 4.ผลักดันและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานของ บสย. ในปี 2563 เช่น โครงการ PGS8 (โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs) และการนำ Credit Scoring มาใช้เพื่อให้สามารถคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามลำดับความเสี่ยงของ SMEs ให้มีการดำเนินการที่เร็วขึ้น,  5.เร่งรัดการคืนภาษี VAT ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการให้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงกับบริการ e-Payment และ 6.ผลักดันโครงการค้ำประกันการส่งออกให้ครอบคลุมตลาดใหม่ๆของ SMEs และรัฐบาลช่วยรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันการส่งออกให้กับ SMEs ในตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออกที่เป็น SMEs ขายสินค้าเป็นเงินบาท และให้สิทธิพิเศษในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการรับชำระค่าสินค้าโดยไม่คิดค่า Premium หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง EXIM Bank

ส่วนกรณีของค่าเงินบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 1.25% เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว และได้ปรับเกณฑ์ 4 มาตรการ เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท นั้น  กกร. เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาอาจช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น จึงขอให้ ธปท.พิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และหากยังปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะส่งผลกระทบในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เคาะแล้ว!กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว แทน LTF

- ธปท.เตรียมฟันแบงก์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพงเกินจริง

- สัญญาณหนี้เสีย คาดตลาดบัตรเครดิตปี63 โตแผ่วลง


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง