TNN อากาศร้อนจัด! กฟน. คาดหน้าร้อนปีนี้ความต้องการใช้ไฟสูงกว่า 9,900 เมกกะวัตต์

TNN

Wealth

อากาศร้อนจัด! กฟน. คาดหน้าร้อนปีนี้ความต้องการใช้ไฟสูงกว่า 9,900 เมกกะวัตต์

อากาศร้อนจัด! กฟน. คาดหน้าร้อนปีนี้ความต้องการใช้ไฟสูงกว่า 9,900 เมกกะวัตต์

การไฟฟ้านครหลวง MEA เผย ค่าคาดการณ์ความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดปี 2567 จำนวน 9,934.25 เมกะวัตต์

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยถึง สถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งประกอบด้วย กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ว่า ตามที่ในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงฤดูที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปีนั้น 


สำหรับปี 2567 จากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 4,266,995 ราย MEA คาดการณ์ค่า Peak ในระบบจำหน่ายของ MEA ไว้ที่ 9,934 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 1.2% จากปี 2566 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เมษายน ถึงช่วงต้นเดือน พฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนเป็นอย่างมาก 


ในขณะที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ทั้งหมดของปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวน 53,994 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.1% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ส่วนต่อขยายสายสีชมพู อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หรือ การผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้ใช้ไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar rooftop) 


นอกจากนี้การใช้ไฟฟ้าในปี 2567 ยังมีโอกาสชะลอตัวลงจากสาเหตุฐานการใช้ไฟฟ้าที่สูง และขยายตัวอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เติบโตเฉลี่ยราวปีละ 4.28% จากผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อากาศร้อน ซึ่งคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดในช่วงกลางปีนี้

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ด้วยสาเหตุการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน MEA จึงมีการเตรียมพร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้สนับสนุนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวใจสำคัญอย่าง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ทำหน้าที่เป็นระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ในการตรวจสอบสถานะ ตลอดจนวิเคราะห์การทำงานของระบบควบคุมตรวจจับข้อมูล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบอย่างรวดเร็วแบบ Realtime ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ MEA เริ่มใช้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 


โดยปัจจุบันยังมีการใช้งาน SCADA ในพื้นที่แจ้งวัฒนะเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย ร่วมกับ SCADA ชิดลม เพื่อรองรับการปรับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของ MEA ในโครงการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า โดยศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA แจ้งวัฒนะ ยังเชื่อมโยงกับสถานีต้นทางแจ้งวัฒนะ ที่จ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีย่อยต่าง ๆ ผ่านสายส่งอากาศ และสายส่งใต้ดิน ดูแลครอบคลุมการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี 


รวมถึงเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบบไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบจำหน่าย ทำการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Online ช่วยบริหารจัดการระบบไฟฟ้า วิเคราะห์จุดเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อแก้ไขได้ตรงจุดและรวดเร็ว สามารถรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data ให้ผู้บริหาร และผู้อำนวยการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต (District CEO) นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที เพิ่มความปลอดภัย ตลอดจนการสร้างทัศนียภาพที่ดีให้กับเมืองมหานครเป็น Smart City

จากความพร้อมในด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ MEA สามารถบรรลุเป้าหมายค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า SAIFI (System Average Interruption Frequency Index) รวมถึงค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง SAIDI (System Average Interruption Duration Index) โดยมีค่า SAIFI อยู่ที่ 0.569 ครั้ง/ราย/ปี และ SAIDI อยู่ที 19.847 นาที/ราย/ปี นับเป็นค่าเฉลี่ยที่อยู่ในมาตรฐานการกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งล่าสุด (ปี 2566) ที่กำหนดไว้ที่ SAIFI ไม่เกิน 0.88 ครั้ง/ราย/ปี และ SAIDI 26.96 นาที/ราย/ปี

นอกจากนี้ MEA ยังมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้อง One-on-One ผ่านช่องทางสื่อสารของ MEA ได้แก่ MEA Smart Life Application และช่องทาง Line "MEA Connect" เพื่อแจ้งเตือนเหตุไฟฟ้าขัดข้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบไฟดับ ได้รับทราบทันทีผ่าน Notification แจ้งเตือน พร้อมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าการแก้ไขเหตุไฟฟ้าขัดข้องนั้น ๆ ได้ โดยระบบดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง ผ่านการระบุตำแหน่งอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบแผนที่ GIS ของ MEA ที่มีความแม่นยำ พร้อมรายงานไปยังศูนย์แก้ไขไฟฟ้าขัดข้องที่มีอยู่ในพื้นที่ 18 การไฟฟ้านครหลวงเขตให้รับทราบความคืบหน้าของแต่ละภารกิจได้ในทันที

ทั้งนี้ MEA ได้แนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมากขึ้น เป็นเหตุให้เสียค่าไฟมากขึ้น วิธีการที่จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน 


ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็นตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า

ในช่วงนี้ที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน มีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงนั้น MEA ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากพายุ รวมถึงป้ายโฆษณากลางแจ้ง ควรมีการตรวจสอบโครงสร้างป้ายให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงมั่นคงปลอดภัย และตรวจสอบระยะห่างของป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้าให้มากขึ้น เพราะอาจส่งผลกระทบกับระบบไฟฟ้าอาจทำให้ไฟฟ้าดับ และขอให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะกิ่งไม้อาจหักโค่นจากลมกระโชกแรงและพาดลงมาทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาดเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหากชำรุดเร่งซ่อมแซมแก้ไขและสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตนเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้าเพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงอาจจะทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้

หากประชาชนพบเห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดหรือไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่ ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, X : @mea_news, และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งผ่าน MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรี



ที่มา กฟน.

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง