TNN online เปิด 10 จังหวัด 'แบงก์ปลอมระบาด' แนะวิธีดู-สังเกตแบบไหนของจริง?

TNN ONLINE

Wealth

เปิด 10 จังหวัด 'แบงก์ปลอมระบาด' แนะวิธีดู-สังเกตแบบไหนของจริง?

เปิด 10 จังหวัด 'แบงก์ปลอมระบาด' แนะวิธีดู-สังเกตแบบไหนของจริง?

เปิดรายชื่อ 10 จังหวัด พบแบงก์ปลอมระบาด ธปท.แนะวิธีดู 3 ขั้นตอน แบบไหนเป็นของจริง-ของเก๊

วันนี้ ( 15 มิ.ย. 66 )ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเตือนพบธนบัตรปลอม หรือ แบงก์ปลอมหลายฉบับในหลายพื้นที่ 10 จังหวัด จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับธนบัตร สังเกตก่อนรับเงินทุกครั้ง โดยวิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ แบงก์จริงต้องกลิ้งได้ เมื่อพลิกเอียงธนบัตร ลายดอกไม้สีทอง และแถบสีจะกลิ้งและเปลี่ยนสีได้


จุดสังเกตธนบัตรรัฐบาลไทย สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการ สัมผัส ยกส่อง และพลิกเอียง และเพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบอย่างน้อย 3 จุดขึ้นไป ดังนี้


1. สัมผัส

– กระดาษธนบัตร : ทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป

– ลายพิมพ์เส้นนูน : เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า “รัฐบาลไทย” ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกสะดุด


2. ยกส่อง

– ลายน้ำ : เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร

นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ ภาพเงาพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะคล้ายลายน้ำ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง

– ช่องใส (ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท) : ช่องใสทรงหยดน้ำ มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน และมีตัวเลข “20” ขนาดเล็กดุนนูน ช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และตัวเลขใส “20” ที่อยู่ด้านล่าง มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน มีการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นเป็นสีเหลือบแดง และมีตัวเลข “20” สีทองอยู่ตรงกลางช่องใสทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

– ภาพซ้อนทับ : เกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง


3. พลิกเอียง

– ตัวเลขแฝง : ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

– หมึกพิมพ์ : ลายดอกประดิษฐ์ ชนิดราคา 500 บาท และ 1,000 บาท พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย

– แถบสี : เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระดาษ โดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ฝังแถบพลาสติกขนาดเล็กเคลือบด้วยสีโลหะไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง และมีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ จะเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นอ่านได้ชัดเจน

– ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง : พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และเส้นใยที่ฝังในเนื้อกระดาษจะเรืองแสงเป็นสีเหลือง แดง และน้ำเงิน


พื้นที่จังหวัดแบงก์ปลอมระบาด

1.อุดรธานี

2.หนองบัวลำภู

3.เพชรบูรณ์

4.ขอนแก่น

5.กาฬสินธุ์

6.มุกดาหาร

7.ชัยภูมิ

8.มหาสารคาม

9.ร้อยเอ็ด

10.นครราชสีมา 


ถ้าได้รับแบงก์ปลอมทำอย่างไร?

หากพลาดได้รับธนบัตรปลอมมาแล้ว ให้รีบไปแจ้งความ เพื่อติดตามจับคนร้าย และอย่านำไปใช้ต่อ เพราะมีความผิดตามกฎหมาย หากได้แบงก์ปลอม ให้แจ้งความ https://fb.watch/kPJbRR6fGc/?mibextid=2Rb1fB


เปิด 10 จังหวัด 'แบงก์ปลอมระบาด' แนะวิธีดู-สังเกตแบบไหนของจริง?



ข้อมูลจาก  :  ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง