TNN ทำเงิน? “Y2K” การตลาดความคิดถึง ไม่ใช่แค่หวนคืนความทรงจำ

TNN

Wealth

ทำเงิน? “Y2K” การตลาดความคิดถึง ไม่ใช่แค่หวนคืนความทรงจำ

ทำเงิน? “Y2K” การตลาดความคิดถึง ไม่ใช่แค่หวนคืนความทรงจำ

จากกระแส "Y2K" ทำให้ภาพยนตร์ "เธอกับฉันกับฉัน" ได้รับความสนใจอย่างมาก จึงเป็นที่น่าจับตามองในด้านกลยุทธ์การตลาดแบบย้อนยุค และอาจเป็นหนังร้อยล้านอีกครั้งของวงการไทย

ภาพยนตร์เรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน” ภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก ของค่าย GDH กำกับโดย วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ นำแสดงโดย ธิติยา จิระพรศิลป์ (ใบปอ) แสดงเป็น ยู และ มี สองพี่น้องฝาแฝดที่ต่างสนิทสนมกันมาก และ อันโทนี่ บุยเซอเรท์ (โทนี่) แสดงเป็น หมาก รักแรกของฝาแฝดทั้งสอง ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในวันนี้ (9 ก.พ.2566) 


โดยภาพยนตร์มีการเล่นกับกระแสของวัยรุ่นในยุค Y2K อย่างนิตยสารเธอกับฉันที่มีรูปหน้าปกน่าตัดไปเก็นสะสม เช่น มอส ปฏิภาณ , ทามาก็อจจิ สัตว์เลี้ยงเสมือนจริงในจอเกมของเล่น , โยโย่ ของเล่นประลองความเร็ว , โนเกีย โทรศัพท์มือถือรุ่นอึดทนสุด , เพจเจอร์ , โทรศัพท์บ้าน , วิทยุ , เทปคาสเซ็ท , วอล์คแมน และ หนังสือคำทำนาย นอสตรานามุส 


รวมทั้งการใช้เพลงประกอบภาพยนตร์ทั้ง ผ้าเช็ดหน้า ของ2สาว โบว์-จ๊อยส์ แห่งวงไทรอัมพ์คิงด้อม ตัวแม่สายเดี่ยวแห่งยุค Y2K ที่สะท้อนถึงแฟชั่นและสังคมในยุคนั้น เช่น ลานน้ำพุ เซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์ ไปจนถึงของเล่น ของใช้ในยุคนั้น 


จากการนำเอาช่วงเวลาวัยเด็กและวัยรุ่นที่เป็นเหมือนความสุข และความทรงจำ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ให้หวนคิดถึงในช่วงเวลานั้นๆ โดยมีจุดเชื่อมโยงกัน อาจทำให้คนมีความรู้สึกอยากจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นที่คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินหลักร้อยล้านได้ไม่ยากอีกครั้งของวงการและGDH


นายธนบัตร ชายด่าน เจ้าของเพจตุ๊ดส์ review ให้ความเห็นถึงภาพยนตร์เธอกับฉันกับฉัน ของ GDH ในหลายมุมทางการตลาดที่น่าสนใจ ว่า การโปรโมทของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้รู้สึกถูกดูดเข้าไปในเส้นเรื่องโดยที่ไม่รู้ตัว มีการเล่นกับ Nostalgia Marketing คือการตลาดแบบย้อนยุค ในยุค Y2K ที่เป็นยุคของเพลง หนัง และสื่อบันเทิงที่มีเสน่ห์ อีกทั้งจังหวะที่หนังโปรโมท ก็ตรงกับช่วงที่ fashion Y2K และทุกอย่างในยุค 1990-2000 กลับมาฮิตอีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสในโลกโซเชียลอย่างมาก 


ทั้งนี้ ความหมายของ Nostalgia Marketing คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ความคิดถึงและการโหยหาอดีตของลูกค้า เช่น ประสบการณ์, สิ่งของ สถานที่, ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุการณ์ในอดีตมาเชื่อมโยงกับแบรนด์ 


โดยแบรนด์จะนำสิ่งที่สิ่งที่ลูกค้าชอบ หรือ รักอยู่แล้วกลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถวิลหาจนอยากครอบครองสิ่งนั้น 


ซึ่งการตลาดแบบนี้มักจะมีผลกับคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง เช่น คนที่เคยอยู่ในช่วงยุคอนาล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล คือ กลุ่มคนรุ่น Millennials อายุ 24-37 ปี หรือ Gen Y เพราะคนกลุ่มนี้มักจะมีความทรงจำมากกว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ที่อยู่แค่เพียงยุคดิจิทัลเพียงอย่างเดียว 


นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มคน Baby Boomer คือ Gen X และ Gen Z ที่ล้วนแล้วแต่ผ่านโลกและมีช่วงเวลาแห่งความสุขและความทรงจำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หลาย ๆ แบรนด์มักจะนำความทรงจำในช่วงนั้นกลับมาสร้างความประทับใจให้กับพวกเขาอีกครั้ง 


ซึ่งสามารถทำมาพัฒนาต่อยอดในเชิงกลยุทธ์การตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงกลยุทธ์การสื่อสาร เพราะกลยุทธ์ NOSTALGIA Marketing สามารถเป็น สะพานเชื่อมคนต่างเจน ให้สามารถเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งได้อีกด้วย


รวมทั้งล่าสุดที่กำลังฮิตกันในโลกออนไลน์ คือ Meme (มีม) ใหม่ชาวโซเชียล คือ “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง แต่...” กลายมาเป็นกระแสใน Social Media ที่หลายแบรนด์กระโดดลงมาเล่นกันอย่างคึกคัก โดยการหยิบเอาจุดเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบันมาสร้างเอนเกจให้กับเพจของตัวเอง


ก่อนที่คำว่า NOSTALGIA MARKETING จะถูกนำมาใช้ในยุคนี้ เคยมีภาพยนตร์เรื่อง”แฟนฉัน” ซึ่งออกฉายในปี 2546 เรื่องราวเกี่ยวกับความรักวัยเด็ก ในอดีตแห่งความทรงจำ ของค่าย GTH สร้างปรากฎการณ์ภาพยนตร์เด็ก แต่ทำรายได้ถึง 137 ล้านบาท และทำให้คำว่า Retro Marketing เกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือ เหตุการณ์ในยุค 80 และต้นยุค 90 ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงเป็นภาพจำที่เด่นชัดที่สุด ที่สะท้อนถึงสังคมยุค 80 และ ต้นยุค 90 ได้ดีที่สุด


รวมถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่นำเสนอเรื่องราววัยรุ่นย้อนอดีตด้วยเช่นกัน อย่างเรื่อง เพื่อนสนิท ในปี 2548 /เรื่อง เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน เมื่อปี 2551 และเรื่อง สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก ในปี 2553 


Retro Marketing มาจากคำว่า Retrospective คือ การระลึกถึงหวนความหลัง ทำให้ Retro Marketing ก็คือ การตลาดหวนคืนความหลังนั่นเอง ซึ่งก็ทำให้คำนี้ถูกนำมาใช้ในแวดวงการตลาดในยุคที่ภาพยนตร์แฟนฉันฉายเป็นอย่างมาก โดยการนำสินค้า -ผลิตภัณฑ์-บริการ ที่ย้อนไปในยุคแห่งความทรงจำ นั่นคือ วัยเด็กและวัยรุ่น


ดังนั้นทั้ง Retro Marketing และ NOSTALGIA MARKETING ความหมายร่วมกัน คือ การทำการตลาดโดยใช้ความทรงจำ ความสุขในวัยรุ่น วัยเด็ก กับการทำการตลาดในการออกสินค้า-บริการ-และผลิตภัณฑ์ต่างๆ 


ดังนั้นภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน ซึ่งใช้การตลาดแบบ NOSTALGIA MARKETING เล่นกับวัยรุ่นในยุค Y2K จะประสบความสำเร็จเหมือน Retro Marketing ที่แฟนฉันเคยทำได้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้หรือไม่ อานุภาพของวัยรุ่น Y2K ในยุคนั้นที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ จะสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางการตลาดได้มากน้อยเพียงใด คำตอบกำลังจะเริ่มต้นนับจากรายได้จากการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันนี้ 



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN


ข่าวแนะนำ