TNN online ไขคำตอบ เหตุใดสหรัฐฯ ไม่ส่งทหารช่วยยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

TNN ONLINE

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

ไขคำตอบ เหตุใดสหรัฐฯ ไม่ส่งทหารช่วยยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

ไขคำตอบ เหตุใดสหรัฐฯ ไม่ส่งทหารช่วยยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

ที่ผ่านมาสหรัฐฯประกาศส่งทหารไปยุโรปตะวันออก แต่ไม่มีการส่งทหารเข้าไปในยูเครน ในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย เป็นเพราะเหตุใด..?



ชาติตะวันตกได้มีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียในหลายหลายรูปแบบเพื่อตอบโต้ในกรณีวิกฤตยูเครน แต่การสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกจะส่งทหารเข้าไปในร่วมสู้รบในยูเครนด้วยนั้น เป็นสิ่งจะไม่มีการล้ำเส้นเข้าไป เรื่องนี้ยืนยันขัดเจนโดยลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวต่อซีเอ็นเอ็นว่า “สหรัฐฯจะไม่ส่งทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครน”

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวชัดเจนว่า กองทัพสหรัฐฯจะไม่เข้าไปในยูเครนและมีปัญหาโดยตรงกับรัสเซีย เขาย้ำว่า “นั่นคือสงครามแล้ว หากสหรัฐฯและรัสเซียเริ่มยิงใส่กัน”

อีกนัยหนึ่งก็คือ หากสหรัฐฯเข้าไปในยูเครน ก็จะมีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งนี้จะกลายเป็นสงครามระดับโลก

พลโทมาร์ค เฮิร์ทลิ่ง นักวิเคราะห์ด้านการทหารของซีเอ็นเอ็นมองว่า วิกฤตขณะนี้ยังจำกัดอยู่ในระดับภูมิภาค กุญแจหลักของการทูตคือ ต้องจำกัดความขัดแย้ง หากนาโต้ หรือสหรัฐฯส่งทหารเข้าไปช่วยยูเครน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ กลไกจะเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ใหญ่ทันที 

เพราะทั้งสหรัฐฯและรัสเซียต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งคู่ สิ่งที่สหรัฐฯและนาโต้กำลังทำในเวลานี้ จึงกลายเป็นการสนับสนุนให้ยูเครนรบชนะด้วยวิถีทางอื่นๆแทน

สำหรับทหารที่สหรัฐฯ ส่งเข้าไปประจำการในยุโรปมากกว่า 4000 นายแล้วนั้น นักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นการส่งไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรยุโรปว่าจะช่วยปกป้องอาณาเขตของนาโต้ แต่ไม่ได้ส่งไปเพื่อรบกับทหารรัสเซียแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังจะไม่ส่งนักบินอเมริกันไปช่วยสร้างเขตห้ามบินในยูเครนด้วย เพราะการไม่ส่งทหารไปช่วยยูเครนรบนั้น ครอบคลุมทั้งทางบกและอากาศ 

ทั้งนี้ ทางการยูเครนได้เรียกร้องให้ชาตินาโต้ช่วยปิดน่านฟ้าของยูเครนเพื่อกำหนดเขตห้ามบิน ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวโดยตรงกับกองทัพรัสเซีย แต่ทำเนียบขาวยืนยันชัดเจนว่า ไม่สนใจที่จะดำเนินการเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางสถานการณ์ที่อาจทำให้สหรัฐฯต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยตรงในสนามรบ นั่นก็คือ หากรัสเซียคุกคามชาติสมาชิกนาโต้อื่นๆ ที่มีชายแดนติดยูเครน เช่น โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี และโรมาเนีย

ซึ่งในกรณีนี้ นาโต้จะต้องบังคับใช้มาตรา 5 ของสนธิสัญญาในการตอบโต้ ซึ่งมาตรานี้กำหนดว่า สามารถใช้ทรัพยากรของชาติพันธมิตรทั้งหมดในการปกป้องชาติสมาชิกใดสมาชิกหนึ่ง 

โดยที่ผ่านมา เพิ่งมีการใช้มาตรานี้ไปเพียงครั้งเดียว คือ หลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายนปี 2001 ที่สหรัฐฯถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี ทำให้นาโต้บังคับใช้มาตรานี้ในการโจมตีอัฟกานิสถาน

แล้วสหรัฐฯช่วยเหลือยูเครนอย่างไร?

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯได้อนุมัติการช่วยเหลือทางการทหารรอบใหม่ต่อยูเครน มูลค่าร่า 350 ล้านดอลลาร์ หรือ 11,200 ล้านบาท 

เสริมจากการช่วยเหลือทางการทหารรรอบแรกและรอบที่สองไปซึ่งอยู่ที่ 60 ล้านและ 250 ล้านดอลลาร์ และส่งความช่วยเหลือด่านมนุษยธรรมมูลค่า 54 ล้านดอลลาร์ไปยังยูเครนแทน

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยในประเทศของสหรัฐฯเองด้วย โดยผลสำรวจความเห็นที่จัดทำช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้สหรัฐฯเข้าไปยุ่งเกี่ยวความขัดแย้งนี้

โพล AP-NORC เผยว่า ชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามเพียง 26% เท่านั้นที่เชื่อว่าสหรัฐฯต้องมีบทบาทหลักในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ 52% มองว่า สหรัฐฯควรมีบทบาทเพียงเล็กน้อย และอีก 20% มองว่า สหรัฐฯไม่ควรเข้าไปมีบทบาทเลย 

หากแยกจากอุดมการณ์ทางการเมืองพบว่า คนที่ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดราว 32% มองว่าสหรัฐฯไม่ควรมีบทบาทในเรื่องนี้เลย ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตราว 32% และรีพับบลิกันราว 22% มองว่า สหรัฐฯควรมีบทบาทหลักในเรื่องนี้.


เกาะติดสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ได้ที่นี่ 

https://www.tnnthailand.com/news/ukraine-russia-war


ภาพจาก แฟ้มภาพทหารสหรัฐฯ โดย Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง