TNN online เทคโนโลยี Cryonics การแช่แข็งร่างมนุษย์ | TNN Tech Reports EP 5 | 08 ต.ค. 63

TNN ONLINE

Tech

เทคโนโลยี Cryonics การแช่แข็งร่างมนุษย์ | TNN Tech Reports EP 5 | 08 ต.ค. 63

การแช่แข็งร่างมนุษย์ หรือ ไครโอนิกส์ (Cryonics) เป็นอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

เริ่มจากกระแสสารคดีเรื่อง Hope Frozen ที่โด่งดังใน Netflix ซึ่งเป็นเรื่องราวของครอบครัวชาวไทย ที่ตัดสินใจ “แช่แข็ง” หรือไครโอนิกส์ (Cryonics) ร่างของลูกสาว เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งอนาคตจะมีหนทางรักษาโรคร้ายของเธอได้ 


ซึ่งการการแช่แข็งร่างมนุษย์ หรือ ไครโอนิกส์ (Cryonics) เป็นอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบกันค่ะ


วิธีการทำไครโอนิกส์ (Cryonics) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และเป็นศาสตร์ที่มีนานมากแล้ว โดยใช้หลักของการเดินทางข้ามเวลา ด้วยการทำให้ร่างกายหลับไหลผ่านช่วงเวลาที่ยาวนานเพื่อตื่นมาในอนาคต จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีนี้


ซึ่งการทำไครโอนิกส์ร่างมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1967 โดยเป็นการแช่แข็งร่างของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เจมส์ เบดฟอร์ด (James Bedford) ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่เป็นที่น่าเสียดายค่ะ เพราะกระบวนการทำไครโอนิกส์ในยุคนั้นไม่ได้มีการศึกษาอย่างดีพอ ทำให้ร่างกายบางส่วนถูกทำลายจากความเย็นจัด ซึ่งร่างของศาสตราจารย์ เจมส์ เบดฟอร์ด ยังคงถูกแช่แข็งมาจนถึงปัจจุบัน และเก็บไว้ที่สถาบัน Alcor Life Extension (อัลคอร์ ไลฟ์ เอกซ์เทนชั่น) เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องการแช่แข็งร่างและชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต


ขณะที่การแช่แข็งร่างมนุษย์ในปัจจุบัน สถาบันดังกล่าว เลือกใช้วิธีที่เรียกว่า Vitrification (วิ-ทริ-ฟิ-เค-ชั่น) คือการทำให้ร่างหรือชิ้นส่วนอยู่ในสถานะที่เป็น “แก้ว” แทนที่จะเป็น “น้ำแข็ง” อย่างที่หลายคนเข้าใจ ด้วยการนำร่างที่อยู่ในสภาพเสียชีวิตแล้วตามกฎหมายเท่านั้น มาผ่านกระบวนการพยุงรักษาแช่แข็งในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างเน่าเสีย หรือสมองได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงอย่างมาก และต้องดำเนินการอย่างละเอียดแม่นยำ 


ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า ร่างมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งตามกระบวนการ Vitrification (วิ-ทริ-ฟิ-เค-ชั่น) แล้ว จะสามารถกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งหลังถูกละลาย นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ก่อนถูกแช่แข็งร่างนั้นอาจอยู่ในสภาพที่ยังมีชีวิตในทางการแพทย์จริง แต่เมื่อแช่แข็งไปแล้วจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ อีกทั้งการแช่แข็งร่างที่อยู่ในสภาพตายแล้วทางกฎหมายจึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าการละลายร่างอันสมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? 


แต่เราก็มีความเชื่อและหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยละลายร่างแช่แข็ง พร้อมคืนสภาพร่างกายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ด้วยเทคโนโลยี Nanorobot (นาโนโรบอต) หรือหุ่นยนต์ขนาดเล็กจิ๋ว ที่จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องของอนาคต 


คำตอบที่เป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้คือ ยังไม่มีวิธีการละลายร่างแช่แข็งที่หนักแน่นพอและเชื่อถือได้ ว่าจะช่วยให้ร่างกายกลับคืนมาได้ดังเดิม


โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการแช่แข็งร่างมนุษย์นั้น อยู่ที่ราว ๆ 150,000 – 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว 5-10 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่สูงมาก ๆ 



เกาะติดข่าวที่นี่


website: www.TNNThailand.com

facebook : TNNThailand

facebook live : TNN Live

twitter : @TNNThailand

Line : @TNNONLINE

Youtube Official : TNNThailand

Instagram : @tnn_online

TIKTOK : @tnnonline




ข่าวแนะนำ