สหรัฐฯ เตรียมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เคลมนำโลหะกลับมาใช้ใหม่ได้ 95%
บริษัท Solarcycle จับมือกับบริษัท EDF Renewables หนึ่งในผู้พัฒนาพลังงานทดแทนรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา เพื่อรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งบริษัทเคลมว่ามีเทคโนโลยีที่สามารถสกัดโลหะมีค่าออกมาจากแผงโซลาร์เซลล์เก่าได้มากถึง 95%
บริษัทอีดีเอฟ รีนิวอะเบิลส์ (EDF Renewables) หนึ่งในผู้พัฒนาพลังงานทดแทนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ร่วมมือกับบริษัทรีไซเคิลอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์อย่างโซลาร์ไซเคิล (Solarcycle) ในการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ที่เสียหายระหว่างการก่อสร้างหรือการใช้งาน นับเป็นหนึ่งความหวังใหม่ในการจัดการขยะที่เกิดจากกระบวนการสร้างพลังงานสะอาด
แผงโซลาร์เซลล์ที่ว่า เป็นของบริษัท EDF และส่งมอบให้โซลาร์ไซเคิลเป็นผู้แยกวัสดุ จากนั้นจะขายวัสดุรีไซเคิลให้กับผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายอื่นในอเมริกาเหนือ
เหตุผลที่ EDF เลือกโซลาร์ไซเคิลเป็นพันธมิตร เนื่องจากโซลาร์ไซเคิลมีเทคโนโลยีที่สามารถสกัดโลหะมีค่าออกมาจากแผงโซลาร์เซลล์เก่าได้มากถึง 95% เช่น แร่เงิน ซิลิกอน ทองแดง อะลูมิเนียม และแก้ว ความสามารถนี้ถือเป็นอันดับต้น ๆ ในอุตสาหกรรมขณะนี้ แม้กระทั่งบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อย่างเฟิร์สโซลาร์ (First Solar) ก็บอกว่าสามารถรีไซเคิลโลหะมีค่ากลับมาใช้ได้เพียง 90% เท่านั้นเอง
เจสซ์ ไซม่อนส์ (Jesse Simons) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้าและผู้ร่วมก่อตั้งโซลาร์ไซเคิล เปิดเผยว่ารู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ EDF ครั้งนี้ รวมถึงยังชี้ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ควรเป็นสัญญาณให้บริษัทระดับโลกอื่น ๆ ทราบว่าเทคโนโลยีรีไซเคิลพร้อมใช้งานแล้วในปัจจุบัน
เว็บไซต์อิเล็กเทร็ก (Electrek) ซึ่งเป็นสื่อที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานยั่งยืน ได้ชี้ว่าการดำเนินการนี้ของ EDF แสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลด้วยการวางแผนรีไซเคิลในระยะสั้นสำหรับแผงที่เสียหายหรือแตกหัก
ปัจจุบันโลกเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์จนก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยในปีที่แล้ว มีแผงโซลาร์เซลล์เพียง 10% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ดังนั้นการนำวัสดุมีค่าเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งเพื่อสร้างสมดุลให้กับห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การขุดไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
ที่มาข้อมูล Electrek
ที่มารูปภาพ Solarcycle
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67