TNN online จุลินทรีย์ใต้ทะเล อาจช่วยเผยเบาะแสของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

TNN ONLINE

Tech

จุลินทรีย์ใต้ทะเล อาจช่วยเผยเบาะแสของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

จุลินทรีย์ใต้ทะเล อาจช่วยเผยเบาะแสของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นทะเลในอ่าวเปอร์เซีย อาจช่วยเปิดเผยเบาะแสเกี่ยวกับชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ได้ศึกษาพื้นที่ที่เรียกว่า Samail Ophiolite ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโอมาน ซึ่งแผ่นเปลือกโลกพื้นมหาสมุทรขนาดใหญ่ของพื้นที่ดังกล่าว เป็นการรวมตัวของหินภูเขาไฟและหินอุลตรามาฟิกจากแผ่นชั้นบนของเปลือกโลก หินเหล่านี้ยังเปิดเผยให้เห็นกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า เซอร์เพนทิไนซ์เซชัน (serpentinization) หรือกระบวนการที่น้ำทำปฏิกิริยากับหินในอุณหภูมิต่ำ และเกิดกระบวนการออกซิเดชัน (Oxidation) โดยจุลินทรีย์ และสร้างก๊าซไฮโดรเจนออกมา

"เชื่อกันว่ากระบวนการต่าง ๆ เช่นการ serpentinization อาจมีอยู่ทั่วทั้งจักรวาล และหลักฐานพบว่า มันอาจเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์" อัลตา ฮาวเวลส์ (Alta Howells) หัวหน้าโครงการ และเป็นผู้ร่วมโครงการดุษฎีบัณฑิตที่ศูนย์วิจัย Ames ของ NASA ในแคลิฟอร์เนีย กล่าวในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา

นักวิจัยได้ตรวจสอบจุลินทรีย์ที่เรียกว่าเมทาโนเจน (Methanogens) ซึ่งผลิตก๊าซมีเทนออกมาจากกระบวนการออกซิเดชันของก๊าซไฮโดรเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบเรียบง่าย และมีแนวโน้มว่าจะวิวัฒนาการมาบนโลกตั้งแต่อดีตกาล 


ดังนั้น การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศที่อาศัยการ serpentinization อาจช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ดีขึ้น และพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจจับสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรของดาวอื่น ๆ นอกโลกได้ 


การวิเคราะห์กระบวนการ serpentinization ในพื้นที่ Samail Ophiolite เปิดเผยว่า เมทาโนเจน หรือจุลินทรีย์ที่ผลิตก๊าซมีเทนในพื้นที่ดังกล่าว อาจไม่สามารถเติบโตในทุกระบบนิเวศที่มีการ serpenitization เกิดขึ้น แต่ในทางกลับกัน สิ่งมีชีวิตที่ใช้ซัลเฟต หรือเกลือของกรดซัลฟิวริกเป็นแหล่งพลังงานอาจเติบโตได้มากกว่า นักวิจัยกล่าวว่าข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป


นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าเมทาโนเจนในของเหลวที่ผ่านกระบวนการ serpenitization ยังต้องการพลังงานมากกว่าเมทาโนเจนที่พบในตะกอนน้ำจืดหรือน้ำทะเล ซึ่งอาจเป็นผลจากค่าความเป็นกรดสูง หรืออาจแปรผันตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ต่ำของกระบวนการ serpentinization 


"ความต้องการพลังงานเป็นพื้นฐานของทุกชีวิตบนโลก" ฮาวเวลส์กล่าวในแถลงการณ์ "ถ้าเราสามารถพัฒนาแบบจำลองของการจ่ายพลังงานอย่างง่ายในรูปแบบพารามิเตอร์ เพื่อทำนายการเกิดและดำรงอยู่ ของสิ่งมีชีวิตบนโลก เราสามารถปรับใช้แบบจำลองเหล่านี้ในการศึกษามหาสมุทรของดาวอื่น ๆ ได้"

ที่มาของข้อมูล Journal of Geophysical Research: Biogeosciences

ที่มาของภาพ Pixabay

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง