TNN online สดร.คาดแสงปริศนาบนฟ้าเป็น "ดาวตก" เกิดขึ้นเป็นประจำทั่วโลก ไม่อันตราย

TNN ONLINE

Social Talk

สดร.คาดแสงปริศนาบนฟ้าเป็น "ดาวตก" เกิดขึ้นเป็นประจำทั่วโลก ไม่อันตราย

สดร.คาดแสงปริศนาบนฟ้าเป็น ดาวตก เกิดขึ้นเป็นประจำทั่วโลก ไม่อันตราย

ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชี้แจงกรณี "เห็นแสงวาบและมีเสียงดังสนั่น" หลายพื้นที่ภาคเหนือของไทย พบเป็น “ดาวตกชนิดระเบิด” เกิดแบบสุ่มเป็นประจำทั่วโลก ไม่เป็นอันตราย

วันนี้ (23 มิ.ย.64) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. แถลงกรณีมีประชาชนหลายจังหวัด พบเห็นแสงไฟวาบบนท้องฟ้าก่อนเกิดเสียงระเบิด เมื่อช่วงเย็นวานนี้ ซึ่งหลังเกิดเกตุการณ์ดังกล่าวนั้น สดร.คาดว่าอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจาก “ดาวตกชนิดระเบิด” และ เสียงที่ได้ยินรวมถึงการสั่นสะเทือนเกิดจากดาวตกอาจจะแผ่คลื่นเสียงกระแทก หรือ sonic boom ทำให้เกิดเสี่ยงดัง แต่ไม่มีอันตรายใดๆ 

ดร.ศรันย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะเป็นดาวตกที่พุ่งเข้ามาชนบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง วัตถุพวกนี้เคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงกว่าเสียงหลายสิบเท่า เร็วกว่าจรวดใดๆ ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจรวดส่งดาวเทียม หรือ จรวดทางทหาร ในคลิปเห็นว่ามีการแตกเป็นสองส่วนและมีแสงสว่างวาบทะลุเมฆ แสดงว่ามีความสว่างค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน ได้พยายามติดตามข้อมูลทั้งภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายเมฆในช่วงเวลานั้น แต่ก็ยังไม่เห็นวัตถุดังกล่าว อาจเป็นได้ว่ามีขนาดเล็กเกินกว่าจะจับภาพได้ โดยคาดว่าอาจเป็นดาวตกครอนไดท์ที่มีขนาดเล็ก 

ทั้งนี้ คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น คือ "ดาวตกชนิดระเบิด" โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลในคลิปที่มีประชาชนส่งเข้ามา คลิปวิดิโอที่คาดได้ว่าเป็นคลิปวิดิโอที่เป็นเหตุการณ์จริงและชัดเจนที่สุดคือคลิปวิดิโอที่ถ่ายได้ในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพราะเมื่อเทียบเวลาในภาพกับเวลาที่เกิดมีความใกล้เคียงกัน เนื่องจากว่าช่วงเวลาที่เกิดเสียงและแสง ฟ้ายังไม่มืด ขณะที่ภาพที่มีการแชร์กันก่อนหน้านี้เป็นภาพเก่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว 

ดร.ศรันย์ กล่าวต่อว่า ในทุกๆ วันจะมีวัตถุจากท้องฟ้าหรือที่เรียกกันว่า "อุกกาบาต" ตกลงมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยเป็นการตกเป็นสุ่ม ไม่มีจุดหมายปลายทางที่แน่ชัด ส่วนใหญ่ถูกเผาไหม้จนไม่เหลือตกลงมาบนผิวโลก หรือ อาจเหลือเป็นเศษละอองฝุ่นขนาดเล็ก หรือบางครั้งก็อาจตกลงในมหาสมุทร 

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ จนถึงขณะนี้มีหลักฐานเป็นคลิปภาพเพียงคลิปเดียว หลังจากนี้ สดร. จะตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียมระบบตรวจจับต่างๆ และ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลกับชาวบ้านที่ระบุว่าเห็นเหตุการณ์ โดยปรากฏการณ์แบบนี้ เคยเกิดขึ้นปี 58 สถานนีตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยจำนวน 3 แห่ง ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้ จึงสามารถนำข้อมูลมาวัดตำแหน่งบนท้องฟ้าเพื่อหาจุดของการเกิดเสียงบนท้องฟ้า ครั้งนี้กำลังกำลังตามอยู่ว่าสามารถตรวจวัดตำแหน่งแผ่นดินไหวได้หรือไม่

ดร.ศรันย์ อธิบายด้วยว่า วัตถุที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เมตร หรือ ครึ่งเมตร มีอยู่นับพันล้านชิ้น ซึ่งไม่มีกล้องโทรทัศน์ใด ๆ ในโลกติดตามได้ ที่มีในแคตตาล็อคและทราบวงโคจรก็จะมีขนาดประมาณ 100 เมตร ขึ้นไป หรือ ขนาดเท่าภูเขา 1 ลูก ขึ้นไป ที่จะสามารถตรวจจับได้ โดยปัจจุบันแม้แต่นาซาก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ตรวจพบล่วงหน้าเพื่อเตือนภัยในสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ อุกาบาตตกที่เกิดขึ้นในรัสเซียเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี ก็ยังไม่สามารถทำนายได้ เพราะเทคโนโลยียังไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีการพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ไม่มีรายงานพบวัตถุใดตกลงบนผิวโลก และ เหตุการณ์ดาวตกก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีชิ้นส่วนของอุกกาบาตตกลงมาบนพื้นโลก 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง