TNN online รู้จัก "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" ที่พบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของ ดาวศุกร์

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รู้จัก "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" ที่พบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของ ดาวศุกร์

รู้จัก กล้องโทรทรรศน์ JCMT ที่พบ ฟอสฟีน ในชั้นบรรยากาศของ ดาวศุกร์

ทำความรู้จัก "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" ที่ทีมนักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นพบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์

วันนี้( 15 ก.ย.63) หลังจากมีการพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ จนได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเป็นอย่างมาก 

ล่าสุดเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำความรู้เกี่ยวกับ "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" ที่ทีมนักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นพบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ว่า

" James Clerk Maxwell Telescope หรือ “JCMT” เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร ตั้งอยู่ที่ภูเขาไฟโมนาเคอา รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นระหว่างอินฟราเรดกับไมโครเวฟ เรียกว่า “submillimeter” นับเป็นกล้องโทรทรรศน์จานเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นนี้

>> ทำไมต้องไปอยู่บนภูเขาไฟโมนาเคอา ?

ช่วงคลื่น submillimeter ได้รับผลกระทบจากชั้นบรรยากาศโลกค่อนข้างมาก กล่าวคือ แสงจากวัตถุอวกาศในช่วงคลื่นนี้จะถูกดูดกลืนโดยโมเลกุลน้ำในชั้นบรรยากาศโลกและโมเลกุลดังกล่าวจะคายพลังงานกลับออกมา หมายความว่านอกจากวัตถุท้องฟ้าจะถูกดูดกลืนแสงจนริบหรี่ลงแล้ว ท้องฟ้าพื้นหลังก็ยังจะสว่างขึ้นอีกด้วย

โมเลกุลน้ำเหล่านี้ส่วนมากจะพบที่บรรยากาศชั้นล่าง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือ “หนี” ชั้นบรรยากาศนี้ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยอดภูเขาไฟโมนาเคอาสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เหมาะแก่การศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่น submillimeter มากที่สุด

>> JCMT แตกต่างจากกล้องโทรทรรศน์ที่อื่นอย่างไร ?

ด้วยขนาดหน้ากล้องที่ใหญ่และมีมุมมองในการศึกษาท้องฟ้าที่กว้าง ช่วยให้กล้อง JCMT สามารถสำรวจท้องฟ้าได้อย่างรวดเร็ว มักจะใช้เพื่อนำร่องค้นหาวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ แล้วจึงศึกษาต่อด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีความละเอียดที่สูงกว่าแต่มีมุมมองแคบกว่า เช่น ALMA และ SMA เปรียบได้กับการศึกษาวัตถุที่เราสนใจด้วยแว่นขยาย แล้วจึงนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษารายละเอียดต่อไป

แม้ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์ JCMT จะมีอายุกว่า 33 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีการพัฒนาอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในปี พ.ศ. 2562 JCMT ก็เป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ในเครือข่าย “Event Horizon Telescope (EHT)” ที่สามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก รวมถึงล่าสุดที่สามารถค้นพบ “ฟอสฟีน” ในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า “ที่ชั้นบรรยากาศดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่”

อ่านเรื่องการค้นพบฟอสฟีนบนดาวศุกร์ได้ที่ : https://www.facebook.com/NARITpage/posts/3495937540469835

อ้างอิง : https://www.eaobservatory.org/jcmt/public/facts/

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร."


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง