TNN online "ดาวศุกร์" ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"ดาวศุกร์" ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

นักดาราศาสตร์ พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า น่าจะมีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่บนดาวศุกร์ หลังพบสารประกอบ Phosphine Gas ก๊าซที่ต้องสร้างโดยสิ่งมีชีวิตเท่านั้นบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

วันนี้ (15 ก.ย.63) ในแวดวงดาราศาสตร์ ถือว่า "ดาวศุกร์" เป็น "ดาวคู่แฝดกับโลก" เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกัน อยู่ในลำดับที่ 2 จากระบบสุริยะ ต่อจากดาวพุธ และถัดไปเป็นโลก และดาวอังคาร แต่ที่แตกต่างคือ ดาวศุกร์ มีทิศทางในการหมุนที่ตรงกันข้ามกับดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ หากยืนอยู่บนดาวศุกร์จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก

แต่ที่น่าสนใจ ทั้งดาวศุกร์ กับดาวอังคารที่อยู่ใกล้โลก ถือว่าอยู่ใกล้  “Habitable Zone” หรือ “พื้นที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต” คือ มีอุณหภูมิพื้นผิวที่เหมาะสมต่อการคงสถานะของเหลวของน้ำ ไม่ร้อนเกินไป  หรือไม่เย็นเกินไป

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ทำให้ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดย Jane Greaves จากมหาวิทยาลัย Cardiff University แห่งสหราชอาณาจักร ค้นพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวศุกร์ โดยบนชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไป พบว่าที่ความสูงราว 50-60 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวดาวศุกร์กลับมีสภาพอากาศ มีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส ที่ไม่ก่อให้เกิดการหลอมละลาย 

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

แต่ที่สำคัญ ทีมวิจัยค้นพบโมเลกุลของสารประกอบ ที่เรียกว่า “ฟอสฟีน“ (Phosphine Gas) ที่มีสูตรทางเคมีว่า PH3 นั้นเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นจาก ฟอสฟอรัส กับ ไฮโดรเจน โดย “ฟอสฟีน “ ที่พบบนโลกนั้น เกิดขึ้นจากงานด้านอุตสาหกรรม หรือเป็นสารสกัดที่เป็นยาฆ่าแมลง เพราะฟอสฟีนนั้นมีพิษ แต่ไม่มีสี และไวไฟ 

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

แต่นอกเหนือจากการสกัดด้วย กระบวนการทางเคมีแล้ว “ฟอสฟีน“ จะเกิดขึ้นได้จากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะสร้างฟอสฟีน ขึ้นในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์         

นักดาราศาสตร์ สันนิษฐานต่อไปด้วยว่า สิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ จะใช้ รังสี UV จากดวงอาทิตย์ ที่อยู่บนชั้นบรรยากาศในการสังเคราะห์แสง 

อย่างไรก็ตาม ดาวศุกร์นั้นอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากกว่าโลก อยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงมีอุณหภูมิที่สูงกว่า และมีก๊าซเรือนกระจกที่หนาแน่นกว่าโลก

มีอุณหภูมิบนพื้นผิว เฉลี่ยสูงถึง 464°C  ขณะที่ดาวพุธซึ่งใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า ด้านกลางวันจะมีอุณหภูมิสูงสุด 430°C และด้านกลางคืน -179°C

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ดังนั้น ดาวศุกร์ ถือว่า เป็นดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะ ประกอบกับ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่หนาแน่นถึง 96.5% ทำให้กักเก็บรังสีอินฟราเรดจากดวงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้มีอุณหภูมิสะสมสูงมากและมีความสม่ำเสมอทั่วทั้งผิวดาว จึงยืนยันว่ามนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตรอดบนดาวศุกร์ได้อย่างแน่นอน  

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" โพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบ "ฟอสฟีน" ในชั้นบรรยากาศของ "ดาวศุกร์" ได้ใช้ "กล้องโทรทรรศน์ JCMT" หรือ “James Clerk Maxwell Telescope” เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร ตั้งอยู่ที่ภูเขาไฟโมนาเคอา รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นระหว่างอินฟราเรดกับไมโครเวฟเรียกว่า “submillimeter” นับเป็นกล้องโทรทรรศน์จานเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ศึกษาดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นนี้

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ในปี พ.ศ. 2562 JCMT ก็เป็นหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์ ที่สามารถถ่ายภาพหลุมดำได้เป็นครั้งแรก รวมถึง ล่าสุดที่สามารถค้นพบ “ฟอสฟีน” ในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ 

ก่อนหน้านี้ มียานอวกาศจำนวนมาก เคยสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคาร โดย ยาน Venera7 (เวเนรา7)ของสหภาพโซเวียตเป็นยานลำแรกที่ลงจอดบนดาวศุกร์ ในปี ค.ศ. 1970 แม้จะเกิดข้อผิดพลาดทำให้ยานตกลงแบบกระแทก แต่ยานก็สามารถส่งข้อมูลกลับมาได้เป็นระยะเวลาประมาณ 20 นาทีก่อนจะหยุดทำงาน ข้อมูลดังกล่าวช่วยยืนยันว่ามนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตรอดบนดาวศุกร์ได้อย่างแน่นอน

ดาวศุกร์ ความหวังใหม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลก

เพราะก๊าซเรือนกระจกที่หนาแน่นทำให้อุณหภูมิของดาวศุกร์ นั้นมีความร้อนถึงขั้นทำให้ ”ตะกั่ว “  หลอมละลายได้ แม้ว่าชั้นบรรยากาศตอนบนของดาวศุกร์อาจจะมีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียส แต่ชั้นบรรยากาศในบริเวณนี้นั้นก็ยังเต็มไปด้วยกรดกำมะถันกว่า 90% ซึ่งยังไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกที่สามารถอยู่รอดในสภาวะเช่นนั้น 

ดังนั้น การค้นพบครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในการแสวงหาสิ่งมีชีวิตในนอกโลก ภายใต้สมติฐานที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจักวาลนั้น อาจไม่ต้องใช้องค์ประกอบเดียวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก เช่น การใช้ก๊าซออกซิเจน และน้ำ เพื่อสังเคราะห์พลังงานและมีชีวิตรอดก็เป็นได้.

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง