TNN online "มนุษย์ต่างดาว" มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"มนุษย์ต่างดาว" มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

"เราอยู่ลำพังในจักรวาลหรือไม่?" หนึ่งในคำถามสำคัญที่ดาราศาสตร์อาจจะช่วยหาคำตอบให้เราได้ และความพยายามในการตอบคำถามนี้นี่เอง ที่นำเราไปสู่เทคโนโลยี ความก้าวหน้า และการค้นพบต่างๆ

"เราอยู่ลำพังในจักรวาลหรือไม่?" หนึ่งในคำถามสำคัญที่ดาราศาสตร์อาจจะช่วยหาคำตอบให้เราได้ และความพยายามในการตอบคำถามนี้นี่เอง ที่นำเราไปสู่เทคโนโลยี ความก้าวหน้า และการค้นพบต่างๆ 

วันนี้ (22 ส.ค.65) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" เกี่ยวกับความพยายามในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก เพื่อค้นหาคำตอบว่า "เราอยู่ลำพังในจักรวาลหรือไม่?" โดยระบุว่า

"เราอยู่ลำพังในจักรวาลหรือไม่?" หนึ่งในคำถามสำคัญที่ดาราศาสตร์อาจจะช่วยหาคำตอบให้เราได้ และความพยายามในการตอบคำถามนี้นี่เอง ที่นำเราไปสู่เทคโนโลยี ความก้าวหน้า และการค้นพบต่างๆ 

ตั้งแต่การส่งยานสำรวจอวกาศไปยังดาวเคราะห์และวัตถุในระบบสุริยะอื่นๆ การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอันห่างไกล และการพยายามค้นหาสัญญาณวิทยุ อันมีลักษณะแปลกไปจากที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติที่อาจจะมีที่มาจากสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากดาวดวงอื่น ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า Search for ExtraTerrestrial Intelligence หรือ SETI

โครงการ SETI ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1900 โดยการดักฟังสัญญาณจากห้วงอวกาศที่อาจจะส่งมาจากสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากดาวดวงอื่น ด้วยจานรับสัญญาณวิทยุ เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีการพัฒนาและปรับปรุงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการค้นหาสัญญาณ 

ตั้งแต่การใช้เครื่อง Supercomputer ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมค้นหาสัญญาณด้วยคอมพิวเตอร์ของตนเองผ่านโครงการ SETI@home 

อย่างไรก็ตาม จนปัจจุบันเราก็ยังไม่เคยค้นพบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากที่อื่นใดได้ และมนุษย์เรายังคงเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาลที่เรารู้จัก
มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

หนึ่งในความท้าทายของการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาคือข้อจำกัดในการสังเกตการณ์ของเรา สัญญาณอันริบหรี่จากดวงดาวอันไกลโพ้นย่อมต้องใช้จานรับสัญญาณขนาดใหญ่ในการสังเกตการณ์ แต่นี่ก็ทำให้พื้นที่บนท้องฟ้าที่เราสามารถค้นหาได้นั้นแคบลง 

เช่น หากเราต้องการค้นหาสัญญาณด้วยจานขนาด 40 เมตรของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติของ สดร. เราจำเป็นต้องทำการสำรวจทั้งหมดมากกว่า 500,000 ครั้ง จึงจะครอบคลุมทั่วทั้งท้องฟ้า ซึ่งหมายความว่าเวลาและรายละเอียดที่เราจะสามารถสังเกตการณ์ในแต่ละส่วนของท้องฟ้าก็จะสั้นลงไปอีก

การพยายามค้นหาสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาโดยควานหาไปทั่วท้องฟ้า อาจเปรียบได้กับการพยายามก้มหาคอนแทคเลนส์ที่ไม่ทราบว่าตกอยู่บริเวณใด ทำให้เรามองข้ามไปได้โดยง่าย แต่หากเราสามารถจำกัดบริเวณที่น่าจะพบให้แคบลง เราก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาได้ดีขึ้น

มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

แนวคิดหนึ่งในการค้นหาสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญา จึงเน้นไปที่การค้นหาเฉพาะในทิศทางบนท้องฟ้าที่คาดว่ามีความน่าจะเป็นที่อาจจะมีสัญญาณส่งมามากที่สุด เช่น ทิศทางอันเป็นที่ตั้งของกระจุกดาวซึ่งเต็มไปด้วยดาวฤกษ์จำนวนมาก 

หรือทิศทางที่เป็นที่ตั้งของระบบดาวที่เราทราบแน่ชัดแล้วว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรอยู่ แต่อีกหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญในการกำหนดพื้นที่ในการค้นหาสัญญาณ SETI ก็คือ “แนวคิดการค้นพบซึ่งกันและกัน” (Mutual detectability) 

กล่าวคือ เราควรมุ่งเน้นไปที่การพยายามค้นหาสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถ และอาจจะกำลังพยายามค้นหาเราอยู่เช่นกัน ซึ่งการที่มนุษย์ต่างดาวจะส่งสัญญาณมายังโลกของเราได้นั้น มนุษย์ต่างดาวต้องทราบให้ได้ก่อนว่าดาวฤกษ์ธรรมดาๆ 

เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา ที่กำลังโคจรอยู่ในตำแหน่งนี้ของทางช้างเผือกนั้น แท้จริงแล้วมีดาวเคราะห์หินขนาดเล็กเป็นดาวบริวาร ที่กำลังโคจรอยู่ด้วยระยะห่างที่พอเหมาะและเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต

มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

จนถึงปัจจุบัน มนุษย์เรามีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 5,000 ดวง และในจำนวนนี้มากกว่า 3,000 ดวงถูกค้นพบด้วยวิธีการผ่านหน้า (Transit) ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนแปลงแสงของดาวฤกษ์ ที่เกิดขึ้นระหว่างการที่ดาวเคราะห์นอกระบบโคจรมาผ่านหน้า 

เราสามารถใช้การสังเกตแสงที่หรี่ลงนี้เพื่อบอกถึงขนาด และระยะห่างในวงโคจรรอบๆ ดาวฤกษ์ เพื่อบอกถึงสภาพแวดล้อมที่อาจจะเอื้อต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นได้ ซึ่งหากมนุษย์ต่างดาวกำลังทำการสังเกตการณ์ระบบสุริยะในรูปแบบเดียวกัน 

ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะสามารถสรุปได้เช่นกันว่าดาวเคราะห์หินดวงที่สามในระบบสุริยะของเรานี้นั้นมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญา และอาจจะพยายามติดต่อมาหาเรา แบบเดียวกันกับที่พวกเรากำลังทำอยู่

อย่างไรก็ตาม วิธีการผ่านหน้านี้นั้นมีข้อจำกัด และไม่สามารถใช้กับการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบได้ทุกดวง เนื่องจากเราจะเห็นดาวเคราะห์นอกระบบผ่านหน้าดาวฤกษ์ก็ต่อเมื่อระนาบการโคจรของดาวเคราะห์นอกระบบนั้นอยู่ในแนวเดียวกันกับแนวสายตาของเราเท่านั้น 

ดาวฤกษ์อีกเป็นจำนวนมากที่เรา “ยังไม่พบ” ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรอยู่นั้น แท้จริงแล้วอาจจะมีดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอยู่ ที่บังเอิญไม่ได้โคจรมาบังหน้าดาวฤกษ์ของมันเมื่อสังเกตจากมุมมองของโลก 

และเช่นเดียวกัน อาจจะมีมนุษย์ต่างดาวที่ไม่สามารถสังเกตการณ์การผ่านหน้าของดาวเคราะห์โลกรอบดวงอาทิตย์ จากตำแหน่งที่พวกเขาอยู่ได้

มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

จากการศึกษาของ L. Kaltenegger และ J. K. Faherty ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา พบว่ามีเฉพาะมนุษย์ต่างดาวที่อาศัยอยู่ในระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ในแนวระนาบสุริยวิถีเท่านั้น ที่จะสามารถเห็นโลกโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ 

โดยในแนวดังกล่าวมีดาวฤกษ์ 1,715 ดวงที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 100 พาร์เซค (ประมาณ 330 ปีแสง) จากระบบสุริยะของเรา ซึ่งจะสามารถสังเกตการณ์เห็นโลกโคจรผ่านดวงอาทิตย์ได้ภายในช่วงระยะเวลา 5,000 ปีที่ผ่านมา 

และยังมีดาวฤกษ์อีก 319 ดวงที่จะสามารถสังเกตการณ์เห็นโลกโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ในเวลาอีก 5,000 ปีข้างหน้า โดยในกลุ่มดาวฤกษ์เหล่านี้มีดาวฤกษ์จำนวน 7 ดวงที่มนุษย์เราได้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดังกล่าวแล้ว รวมถึงระบบดาวเคราะห์ Trappist-1 ที่จะสามารถสังเกตการณ์เห็นโลกผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ในอีก 1,642 ปีข้างหน้าด้วย

มนุษย์ต่างดาว มีจริงหรือไม่? คำถามสำคัญสู่ความพยายามตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังพบอีกว่ามีดาวฤกษ์ถึง 75 ดวงที่อยู่ใกล้กับโลกของเราเพียงพอที่สัญญาณวิทยุจากโลกของเราจะส่งไปถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าหากดาวฤกษ์ดังกล่าวมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบ ๆ พวกเขาอาจสามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์และรับสัญญาณวิทยุจากโลกของเราได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นั่นหมายความว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นทราบแล้วว่าบนโลกของเรามีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอย่างมนุษย์เราอาศัยอยู่ และพวกเขาอาจพยายามติดต่อกลับมาหาเราอยู่ ณ ตอนนี้ก็เป็นได้.


เรียบเรียง : ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย - กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง : https://go.nasa.gov/3pAI2Gx

ภาพจาก NASA 


อ่านเพิ่มเติม

"มนุษย์ต่างดาว" หายไปไหน? เพราะเราหาไม่เจอหรือว่าเธอไม่มีอยู่จริง?

โลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา เพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง