TNN แพทย์ มช. เฉลย "ต้มเห็ดกับข้าวสาร-ช้อน" พิสูจน์เห็ดพิษได้จริงหรือไม่?

TNN

ภูมิภาค

แพทย์ มช. เฉลย "ต้มเห็ดกับข้าวสาร-ช้อน" พิสูจน์เห็ดพิษได้จริงหรือไม่?

แพทย์ มช. เฉลย ต้มเห็ดกับข้าวสาร-ช้อน พิสูจน์เห็ดพิษได้จริงหรือไม่?

แพทย์ มช. เผยในแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่ พบผู้เสียชีวิตจาก "เห็ดพิษ" เฉลี่ยปีละ 4 ราย พร้อมไขข้อสงสัย ภูมิปัญญาต้มเห็ดกับข้าวสาร-ช้อน พิสูจน์เห็ดพิษได้จริงหรือไม่

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งออกมาเตือนอันตรายในการบริโภคเห็ดพิษ โดยเฉพาะ เห็ดที่มีลักษณะกลมๆ คล้ายกับเห็ดถอบ เช่น พวกเห็ดไข่หงส์ เห็ดลูกฝุ่น เห็ดหำหมา-หำฟาน และ พวกเห็ดดาวดิน ที่หากรับประทานเข้าไปแล้วจะมีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร และ  ทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย แต่อาจไม่ได้เป็นพิษร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ส่วนมากอาการมักจะเกิดเร็วภายในไม่เกิน 3-4 ชั่วโมงหลังจากที่รับประทานเข้าไป


แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือเห็ดกลุ่มที่มีพิษร้ายแรงจำพวกเห็ดระโงก-เห็ดไข่ห่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนทุก ๆ ปี โดยเห็ดไข่ห่านมีทั้งชนิดที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้ ทั้งสองแบบมีลักษณะคล้ายกันชนิดที่มีสีสด (สีเหลือง สีส้ม) สามารถรับประทานได้ต่างกับชนิดที่มีสีขาวล้วน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งชนิดที่กินได้ หรือ เป็นชนิดที่มีพิษร้ายแรงมาก จุดสังเกตอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ “ด้านบนของดอกเห็ด จะเห็นเป็นเส้นๆ เป็นรอยเหมือนกับเป็นหวี” ถ้าไม่มีหวีด้านบนลักษณะนี้มีพิษรุนแรง รับประทานเพียงแค่ดอกเดียว พิษก็อาจส่งผลกระทบต่อตับอย่างรุนแรง ถึงขั้นตับวายได้ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต


เมื่อรับประทานเห็ดชนิดที่เป็นพิษร้ายแรงส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดอาการทันที แต่จะมีอาการหลังจาก 6 ชั่วโมง ขึ้นไป ซึ่งหากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกแล้วก็ตาม เพราะหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวว่า ในแต่ละปีจังหวัดเชียงใหม่พบผู้เสียชีวิตปีละเฉลี่ย 4 ราย ส่วนผู้ป่วยจากพิษเห็ดมีมากพันกว่าราย เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น ที่ผ่านมาคนมักจะมีความเชื่อที่ผิด ๆ เช่น หากนำเห็ดไปต้มกับข้าวสาร หรือ ช้อนเงิน แล้วเปลี่ยนสีแสดงว่าเป็นพิษ หากมีรอยแมลงแทะ หรือมีสีสดจะเป็นเห็ดพิษ ความเชื่อหรือภูมิปัญญาทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้เลย 


ดังนั้นการจำแนกด้วยการรู้จักเห็ดเป็นอย่างดีจึงจะจำแนกได้อย่างปลอดภัย เช่น เห็ดระโงกขาว ที่มีทั้งกินได้และมีพิษ ที่กินได้ขอบด้านบนของหมวกเห็ดจะมีซี่คลายหวี ชาวบ้านส่วนใหญ่จะดูเป็น แต่ปัญหาคือชาวบ้านมักจะเก็บตอนที่มันยังไม่บานทำให้มองไม่เห็นซี่หวี ดูไม่ออก ลักษระไม่ครบ ทำให้มีคนเสีนยชีวิตจากการกินเห็ดพิษแบบนี้ค่อนข้างมาก  


ส่วนเห็ดถอบที่เป็นที่นิยม มีรูปร่างกลม แต่มีเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายกันหลายชนิด เช่นเห็ดดาวดิน หรือ เห็ดลูกฝุ่น ที่ดูคล้ายกันแต่จะออกสีเหลือง รูปกลมเหมือนลูกปิงปองแต่มีราก ซึ่งชนิดนี้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร  


นพ.รังสฤษฎ์ ให้คำแนะนำ อย่าไปเสี่ยงกินเห็ดที่ไม่ได้เก็บเอง โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดระโงกหรือไข่ห่านสีขาว หรือ ตูมมาก ๆ ยังไม่บาน  ถ้าไม่แน่ใจให้หลีกเลี่ยงไว้ก่อน ไม่รู้จริงอย่างกิน ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะลองเสี่ยงเพราะไม่คุ้มค่า


อย่างไรก็ตาม หากรับประทานเห็ดที่มีพิษเข้าไปแล้วมีอาการ เบื้องต้นเมื่อไปพบแพทย์ให้นำเห็ดดังกล่าวเข้าไปด้วยเสมอ ซึ่งแพทย์จะตรวจสอบหรือทำการปรึกษากับทางศูนย์พิษวิทยาต่างๆได้ เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใด ต้องแก้ไข ให้การรักษาอย่างไร หากเกิดอาการเร็วภายใน 3-4 ชั่วโมง ก็จะรักษาประคับประคอง ส่วนใหญ่จะไม่กระตุ้นให้อาเจียนเพราะอาจสำลักได้ กรณีเมื่อมาพบแพทย์เร็วจะให้รับประทานทานผงถ่านทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการและอาจต้องทำการเจาะตรวจเลือดเพื่อประเมินอาการด้านต่างๆ พร้อมให้การรักษาตามขั้นตอน  


กรณีเมื่อรับประทานเห็ดชนิดที่เป็นพิษร้ายแรงส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดอาการทันที แต่จะมีอาการหลังจาก 6 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งหากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกแล้วก็ตาม เพราะหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้






ข่าวแนะนำ