TNN เลือดกำเดาไหลเพราะPM2.5 เกิดได้อย่างไร? อันตรายแค่ไหน?

TNN

Health

เลือดกำเดาไหลเพราะPM2.5 เกิดได้อย่างไร? อันตรายแค่ไหน?

เลือดกำเดาไหลเพราะPM2.5 เกิดได้อย่างไร? อันตรายแค่ไหน?

หลายคนอาจสงสัยว่า PM2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหลได้อย่างไร และเมื่อไหร่ที่ควรต้องมาพบแพทย์ วันนี้ TNN Health มีคำตอบ

จากกรณีเพจ Drama-addict ลงภาพเด็กชายรายหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 จนมีปัญหาเลือดกำเดาไหลไม่หยุด โดยเป็นแบบนี้ทุกปี บางปีอาการหนักเลือดไหลไม่หยุด จนหมอต้องให้เข้าห้องผ่าตัด ไปจี้เส้นเลือดในจมูกเพื่อหยุดเลือดนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า PM2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหลได้อย่างไร และเมื่อไหร่ที่ควรต้องมาพบแพทย์ วันนี้ TNN Health มีคำตอบ 



  • PM2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหลได้อย่างไร? 


ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอนแก่น ระบุว่า PM 2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงจมูก เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบ เกิดการบวมที่มากขึ้น และ ไวต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมมากขึ้น เกิดโพรงจมูกอักเสบ หรือ ภูมิแพ้กำเริบในผู้ป่วยภูมิแพ้ และเมื่อเกิดอาการบวมที่มากขึ้น มีน้ำมูก คัน จาม อาจกระตุ้นให้มีการ ขยี้จมูก แคะแกะเกา บริเวณผนังจมูกด้านหน้า หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ


โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุโพรงจมูกด้านหน้า หรือเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กในโพรงจมูกด้านหน้าเกิดบาดเจ็บ แตก และทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้


ในทางการแพทย์ เรียกเลือดกำเดาไหลชนิดนี้ว่า Anterior epistaxis หรือเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะเลือดกำเดาไหลในเด็ก และคนที่มีโพรงจมูกอักเสบทั้งจากการติดเชื้อ หรือจากภูมิแพ้จมูก


แต่หากเป็นเลือดกำเดาไหลจากจมูกทางด้านหลัง หรือ Posterior epistaxis ซึ่งจะมีปริมาณมากและมีความรุนแรงมากว่า สาเหตุมักจะสัมพันธ์กับ ภาวะความดันโลหิตสูง และจะพบในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคความดันโลหิตสูง จะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับ PM 2.5 โดยตรง นอกเหนือจากนั้น ภาวะเลือดกำเดาไหลยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นสาเหตุจาก PM 2.5 โดยตรง


  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น


- นั่งโน้มตัวมาข้างหน้า ไม่แหงนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงไปในคอ และหลอดลม เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสให้เลือดเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจและเกิดอาการสำลักได้


- ใช้มือบีบปีกจมูกทั้ง 2 ข้างประมาณ 10 นาที จนกว่าเลือดจะหยุดไหลและหายใจทางปากแทน


- ประคบเย็น ที่บริเวณหน้าผากและรอบๆ จมูก


- หากเลือดหยุดไหลแล้ว งดแคะแกะเกา ขยี้จมูก หรือจาม สั่งน้ำมูกแรงๆ


- หากเลือดยังไม่หยุดไหล หรือเลือดไหลปริมาณมาก ไหลลงคอร่วมด้วย มีอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ ให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยทันที


  • เลือดกำเดาไหล เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์?


1. เลือดกำเดาไหลซ้ำ เป็นบ่อยๆ โดยเฉพาะ หากเลือดกำเดาไหลออกข้างเดิม เป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากสาเหตุมักจะพบว่ามีจุดเลือดออก มีแผลที่ชัดเจนและสามารถให้การรักษาด้วยยาเพื่อลดโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลซ้ำได้


2. เลือดกำเดาไหลปริมาณมาก เกินกว่าครึ่งแก้ว หรือไม่หยุดหลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการบีบจมูกนาน 15 นาที หรือมี หน้ามืดวิงเวียนศีรษะร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที


3. เลือดกำเดาไหลลงคอมากกว่าออกมาทางหน้าจมูก เนื่องจากอาจเกิดจาก เลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูกส่วนหลัง ซึ่งมีโอกาสเกิด เลือดกำเดาไหลรุนแรง และไม่สามารถห้ามเลือดให้หยุดได้ด้วยตนเอง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


4. มีเลือดกำเดาไหล ร่วมกับมีภาวะเลือดออกที่ระบบอื่นๆ เช่น จุดน้ำเลือดที่ผิวหนัง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาจเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด


5. มีภาวะเลือดกำเดาไหล ร่วมกับความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจประเมินสาเหตุและตำแหน่งของเลือดกำเดาไหล รวมถึงประเมินการรักษาเรื่องความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุร่วมด้วย


6. มีอาการทางจมูกอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คัดแน่นจมูกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือ มีหูอื้อ จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกและหลังจมูกเพื่อตรวจก้อนเนื้อในจมูกเพิ่มเติม


  • ป้องกันเลือดกำเดาไหล จากฝุ่น PM2.5 


เบื้องต้นคือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัส สุูดดมฝุ่น มลภาวะ ควันบุหรี่ หากไม่สามารถเลี่ยงได้ แนะนำให้ล้างจมูกด้วยเกลือ เพื่อขจัดฝุ่นมลภาวะ หากมีโรคภูมิแพ้ควรทานยาและรับการรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรแคะ แกะ หรือเกา ขยี้จมูก หรือสั่งน้ำมูกแรงๆ 


ภาพ: Envato

ที่มา: โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอนแก่น

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง