TNN online "มะเร็งตับ" ภัยร้ายใกล้ตัว เช็กวิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยงห่างไกลโรคร้าย

TNN ONLINE

Health

"มะเร็งตับ" ภัยร้ายใกล้ตัว เช็กวิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยงห่างไกลโรคร้าย

มะเร็งตับ ภัยร้ายใกล้ตัว เช็กวิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยงห่างไกลโรคร้าย

"มะเร็งตับ" โรคร้ายใกล้ตัว อีกหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อย แนะวิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยง ตรวจรักษาอย่างไรบ้าง

"มะเร็งตับ" โรคร้ายใกล้ตัว อีกหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อย แนะวิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยง ตรวจรักษาอย่างไรบ้าง


มะเร็งของเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และพบมากที่สุดในประเทศไทย 


มะเร็งตับเกิดขึ้นได้โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ 1. เกิดขึ้นที่ตับโดยตรง และ 2. เซลล์มะเร็งลุกลามมายังตับ สาเหตุของมะเร็งที่เกิดขึ้นกับตับโดยตรง มักพบจากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เป็นจำนวนมากถึง 27,394 ราย หรือคิดเป็น 14.4% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 26,704 รายเสียชีวิต ซึ่งคิดเป็น 21.4% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในชายไทย และพบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้หญิงไทย การพยากรณ์โรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบ เมื่อเริ่มวินิจฉัย โดยทั่วไปแล้วอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีคือ 20% โดยผู้ที่มีระยะของโรคที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกไปนอกตับแล้วจะมีโอกาสอยู่รอดที่ 3 เปอร์เซ็นต์ที่ 5 ปี ในขณะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคมีขนาดไม่ใหญ่ จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 34% ที่ 5 ปี


สาเหตุโรคมะเร็งตับ

การค้นหามะเร็งในระยะที่ไม่แสดงอาการในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีความสำคัญมาก แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างเรื้อรัง เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยตับแข็งที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่

-การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
-การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน
-โรคตับคั่งไขมันจากภาวะอ้วน
-ตับอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิตนเอง
-โรคตับคั่งน้ำดี


การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งตับทำได้หลายวิธีเช่น

-การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
-การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
-การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
-การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสารพิษเช่น Aflatoxins
-การรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดตับแข็งเช่น โรคเหล็กพอกตับ
-ตรวจยีนในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ


การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งตับ คือ การป้องกันและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ เนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูง หากมีมะเร็งตับเกิดขึ้น มะเร็งตับจะโตขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลา 3-6 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีควรต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein) และตรวจอัลตร้าซาวด์ตับทุก 3-6 เดือน


วิธีการตรวจรักษา

ผู้ป่วยที่ผลการตรวจต่างๆ บ่งชี้ว่าเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในตับน่าจะเป็นมะเร็งตับ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินสมรรถภาพการทำงานของตับ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ร่วมกับข้อมูลขนาด ตำแหน่ง และการแพร่กระจายของเนื้องอกตับ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ผู้ป่วยมะเร็งตับบางรายสามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือผ่าตัดตับเอาเนื้องอกออกได้หมด หรือใช้อุปกรณ์จี้หรือเผาให้เนื้องอกตาย (tumor ablation) หรือฉีดยาเคมีผ่านหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงเนื้องอกร่วมกับฉีดสารอุดหลอดเลือดดังกล่าว (transarterial chemoembolization) หรือการรักษาด้วยยามุ่งเป้า (targeted therapy) ตามความเหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม การรักษาเหล่านี้จะทำควบคู่ไปกับการรักษาโรคตับพื้นฐาน เพื่อประคับประคองหรือฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของตับให้พร้อมกับการรักษามะเร็งตับต่อไป นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งตับควรเลือกรับประทานที่สะอาดให้ครบ 5 หมู่ มีปริมาณสารอาหารจากโปรตีนอย่างเพียงพอ และเป็นอาหารจืดที่ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลาในปริมาณน้อย เพื่อช่วยในการรักษาหรือป้องกันภาวะท้องมานและขาบวม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริม สมุนไพร หรือยาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เนื่องจากสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรงจนผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิตเร็วก่อนเวลาอันควร





ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลศิริราชฯ
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง