TNN online รู้จัก "ฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต

TNN ONLINE

Health

รู้จัก "ฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต

รู้จัก ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต

เตือนประชาชนให้ระวังโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทยในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต

เดือนมีนาคมถึงเมษายน อากาศร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ อากาศร้อนๆแบบนี้ ดูแลสุขภาพกันให้ดี เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคลมแดด โรคที่มีอันตรายถึงชีวิต สำหรับโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จะมีอาการตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศา แต่ไม่มีเหงื่ออก ปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากปล่อยทิ้งไว้ แล้วร่างกายยังไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง 


อาจส่งผลทำให้ชักกระตุก เกร็ง หมดสติและถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ก็คือ เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เพราะ ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่ต้องออกแดดนานๆ หรือมีอาชีพที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ตีกอล์ฟ หรือเกษตรกร 


ซึ่งถ้าหากพบคนเป็นลมแดด ต้องรีบพาไปอยู่ในที่ร่มหรือจุดที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิลง จากนั้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น จากนั้นต้องคลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อน นำผ้าชุบน้ำประคบตามซอกคอ รักแร้ หน้าผาก เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากยังไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด



รู้จัก ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต

รู้จัก ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต


สัญญาณเตือนการเป็นโรคลมแดด


1. ผู้ป่วยมีอาการกระหายน้ำมาก ร่างกายเราจะขาดน้ำ

2. มีอาการเวียนศีรษะ มองอะไรแล้ว งงๆ มึนๆ

3. สังเกตเหงื่อของคนไข้ จะแห้ง ผิวแห้ง แล้วมีการระเหยของน้ำหมด ทำให้ระบบประสาททำงานไม่ปกติ


ขณะที่ นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะ ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว



สรุปอาการโรคลมแดด

 

1. ปวดศีรษะ 

2. หน้ามืด 

3. กระสับกระส่าย 

4. ซึม สับสน 

5. ชัก ไม่รู้สึกตัว 

6. คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง 



รู้จัก ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต



ด้าน นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่ ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน รวมถึงประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยระยะพักฟื้น 


สำหรับการป้องกันโรคลมแดด หรือ Heat Stroke  สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง 


รู้จัก ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอันตรายถึงชีวิต


สรุปการป้องกัน โรคลมแดด   


1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด

2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ 

3. ใช้อุปกรณ์ปกป้องจากแสงแดด



หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตามโรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะ ที่สำคัญในร่างกาย





ภาพ TNNOnline  / AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง