TNN online "อาหารติดคอ" ทําอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน-วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

TNN ONLINE

Health

"อาหารติดคอ" ทําอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน-วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

อาหารติดคอ ทําอย่างไร? แนะวิธีป้องกัน-วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

"อาหารติดคอ" มีอาการสำลัก-สิ่งแปลกปลอมติดคอ ทําอย่างไร? กรมอนามัยแนะวิธีป้องกัน-วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

"อาหารติดคอ" มีอาการสำลัก-สิ่งแปลกปลอมติดคอ ทําอย่างไร? กรมอนามัยแนะวิธีป้องกัน-วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น 


จากกรณีข่าว หนุ่มวัย 27 ปี นั่งรับประทานชาบูที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ก่อนจะหายใจไม่ออกหมดสติ เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเร่งนำส่งโรงพยาบาลก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา เบื้องต้นสาเหตุคาดว่าเกิดจาก "อาหารติดคอ"

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนและโรงพยาบาลจะชันสูตรหาสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง


"อาหารติดคอ" เกิดจากสาเหตุใด


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย ได้ระบุไว้ว่า เหตุการณ์สิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ น็อต ลูกอม ติดคอ 

สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่มักเกิดจากการกินอาหารชิ้นใหญ่ หรือเคี้ยวไม่ละเอียด จึงเกิดการติดคอ และปิดกั้นหลอดลม จนขาดอากาศหายใจได้ 


วิธีการปฐมพยาบาล "อาหารติดคอ"

- เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลัก หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอแรงๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอทันที 

อย่าพยายามใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอันตรายได้ 

- ส่วนกรณีรุนแรง หายใจไม่ได้ ไอไม่ได้ หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้แจ้ง 1669 และรีบปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ช่วยปฐมพยาบาลยืนด้านหลังผู้ป่วยโอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำ โดยหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปด้านในหน้าท้องผู้ป่วย 

แล้ววางไว้ เหนือบริเวณสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ 

มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ และรัดกระตุกที่หน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อมๆ กัน แรงๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดหรือร้องออกมาได้ จากนั้นนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที


การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร

การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ 

1) นั่งตัวตรงขณะกินอาหารและหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที ควรนั่งพักหรือเดินย่อยสัก 15 – 20 นาที 

2) กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด 

3) อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที 

4) อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ  หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป 

5) ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน 

6) กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย 

7) ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ 

8) หากอาหารที่กินแข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น




ข้อมูลจาก กรมอนามัย

ภาพจาก AFP

 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง