TNN ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย 5 หมื่นคน ทำนาย “โรค” ในอนาคต

TNN

Health

ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย 5 หมื่นคน ทำนาย “โรค” ในอนาคต

ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย 5 หมื่นคน ทำนาย “โรค” ในอนาคต

กรมวิทย์ฯเริ่มโครงการ ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย 50,000 ราย ทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคและวิธีป้องกันที่แม่นยำในอนาคต

วันนี้ ( 10 มี.ค. 66 )นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องในวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ครบ 81 ปี ว่า โครงการหนึ่งที่ทางกรมวิทย์ฯอยู่ระหว่างดำเนินการ คือโครงการ"จีโนมมิก ประเทศไทย" เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมของคนไทย จำนวน 50,000 คน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 10,000 คน เพื่อนำมาเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับโรคต่างๆที่เกิดขึ้น  เช่น โรคมะเร็ง  เบาหวาน รวมทั้งโรคหายากต่างๆ  เพื่อหาความสัมพันธ์กับรหัสพันธุกรรม จะได้ทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค และวิธีป้องกันในอนาคต 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลลดลง เตียงในโรงพยาบาล ทั่วประเทศว่างเกือบทั้งหมด 

ขณะที่ สายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์หลักที่มีการระบาดในประเทศไทยยังเป็นสายพันธุ์ย่อย ลูกหลานของ BA.2.75 คือ BN.1 และ BN.2 ซึ่ง พบว่าแพร่เร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้ต่างไปจากเดิม จึงไม่น่ากังวล สอดคล้องกับการเปิดประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น 

สำหรับการตรวจสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีการตรวจด้วยการ 2 รูปแบบ คือ ตรวจแบบเร็วซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 วัน และการตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งมีการตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อส่งข้อมูลเข้าระบบจีเซด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายจึงได้หยุดการตรวจแบบเร็ว คงเหลือไว้เฉพาะการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เพื่อเก็บเป็นข้อมูลหากเกิดการกลายพันธุ์ที่รุนแรงในอนาคต 

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ