TNN อันตราย! เขย่าตัว "เด็ก" ระวังสมองกระทบกระเทือน อาจพิการ-เสียชีวิตได้

TNN

Health

อันตราย! เขย่าตัว "เด็ก" ระวังสมองกระทบกระเทือน อาจพิการ-เสียชีวิตได้

อันตราย! เขย่าตัว เด็ก ระวังสมองกระทบกระเทือน อาจพิการ-เสียชีวิตได้

อันตราย! เขย่าตัว "เด็ก" โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ระวังสมองกระทบกระเทือน อาจพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

อันตราย! เขย่าตัว "เด็ก" โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ระวังสมองกระทบกระเทือน อาจพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

จากกรณีข่าว "นิ่ม" อายุ 17 ปี แม่ของ "น้องต่อ" เด็กอายุ 8 เดือนที่หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จ.นครปฐม ยอมรับสารภาพว่า ก่อน "น้องต่อ" หายตัวไปเป็นเพราะการอุ้มแบบเขย่าไปมา เพื่อให้เด็กหยุดร้อง จนหล่นหัวกระแทกพื้น สุดท้ายก็พบว่าเสียชีวิตแล้วจึงอุ้มเด็กไปทิ้งลงแม่น้ำ

เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้แชร์ข้อมูลของ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีเรื่องการเขย่าตัวเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเด็กวัยนี้ กล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงพอ

เมื่อผู้ใหญ่จับเด็กเขย่า ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม หัวเด็กก็จะโยกไปมา จนทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน เกิดเลือดออกในสมอง ทำให้เด็กถึงขั้น เสียชีวิต หรือพิการตลอดชีวิตได้

ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กตัวเล็กๆ โปรดทราบ ห้ามจับเด็กเขย่าโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ แพทย์ประจำบ้านและอาจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ได้เรียบเรียงสาระความรู้ ไว้ในจุลสารข่าวศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระบุว่า

การเขย่าเด็กอย่างรุนแรง 

เกิดจากอารมณ์โกรธหงุดหงิด โมโห หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงทารก มักจะเกิดอันตรายกับเด็กเล็กได้ ถ้าไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กแบเบาะที่ยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงศีรษะตนเองได้ รวมทั้งสมองมีความอ่อน ซึ่งถ้ามีการเขย่า หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เนื้อสมองไปกระทบกับกะโหลกศีรษะเส้นเลือดรอบเนื้อสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง หรือจอประสาทตาเป็นอันตราย และมีผลตามมาได้ดังนี้

1. ตาบอด

2. พัฒนาการช้าลง

3. ชัก

4. เป็นอัมพาต

5. สติปัญญาอ่อน

6. อาจถึงเสียชีวิตได้

ข้อแนะนำถ้ารู้สึกเด็กผิดปกติ หลังจากเขย่าเด็กอย่างรุนแรง

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องนำเด็กไปรับการตรวจจากกุมารแพทย์ทันที ให้ประวัติแก่กุมารแพทย์หรือแพทย์ผู้ดูแลด้วยเสมอเรื่องเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพราะถ้าไม่มีประวัตินี้แพทย์อาจจะไม่ได้นึกถึง อาจวินิจฉัยได้ล่าช้า ทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที และเกิดอันตรายรุนแรงได้ อาการผิดปกติ

เริ่มแรกของอันตรายจากการเขย่าเด็ก ได้แก่ อาการอาเจียน หรือหายใจลำบาก ซึ่งมักคล้ายอาการของโรคอื่นๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ภาวะปวดท้อง 3 เดือน (โคลิก) กินนมมากเกินไป หรือให้นมไม่ถูกวิธี

สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ ถ้าสมองเด็กได้รับอันตราย หรือเลือดออกในสมองจากการเขย่า ถ้าไม่รีบทำการรักษาอาการจะเลวลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาที่เป็นอันตรายต่อเด็กได้มากขึ้น 

ดังนั้น การได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว จะสามารถช่วยชีวิตเด็กรวมทั้งลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้

ถ้าเด็กร้องไห้ไม่หยุด

พยายามปลอบหรือหาสิ่งของมาล่อดึงดูดความสนใจของเด็ก

หาสาเหตุที่ทำให้เด็กร้อง เพราะอาจเกิดอาการเจ็บป่วยทางกายของเด็กได้

ถ้าไม่แน่ใจควรนำไปพบแพทย์

ถ้าไม่พบสาเหตุหรืออาการเจ็บป่วยทางกาย และปลอบไม่ยอมหยุดร้องแล้ว พ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเกิดอาการหงุดหงิด ต้องพักสงบสติเป็นอันดับแรก ต้องจำไว้เสมอว่าไม่ควรเขย่า ทุบตีเด็ก เพราะจะเกิดอันตรายอย่างรุนแรง และถ้ามีความรู้สึกเช่นนี้แสดงว่าควบคุมตนเองไม่ได้แล้ว ควรปฏิบัติดังนี้

- หายใจเร็วออกลึกๆ นับ 1-10

- เดินออกมานอกห้องให้เด็กร้องอยู่ในห้องที่ปลอดภัยคนเดียว

- เรียกหาคนใกล้ชิดอื่นมาปลอบเด็กแทน

- หลังจากสงบสติอารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงกลับเข้าไปดูเด็กอีก



ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict / คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพจาก AFP



ข่าวแนะนำ