TNN online ครูกินค้างคาว หมอเตือน!แม้ปรุงสุกก็เสี่ยงติดเชื้อโรค-มีโทษหนัก

TNN ONLINE

Health

ครูกินค้างคาว หมอเตือน!แม้ปรุงสุกก็เสี่ยงติดเชื้อโรค-มีโทษหนัก

ครูกินค้างคาว หมอเตือน!แม้ปรุงสุกก็เสี่ยงติดเชื้อโรค-มีโทษหนัก

ครูกินค้างคาว หมอประสานเสียงเตือน! แม้นำมาปรุงสุกก็เสี่ยงได้รับเชื้อโรค ย้ำอย่าริจับนำมาทำเป็นเมนูเปิบพิสดาร

วันนี้ ( 10 พ.ย. 65 )จากกรณี ครูสาวไลฟ์โชว์กินค้างคาว โดยปรุงเป็นอาหารเป็นเมนูเปิบพิศดาร ล่าสุดแพทย์ได้ออกมาเตือนแล้ว เนื่องจากการรับประทาน” ค้างคาว" สุดอันตราย แม้นำมาปรุงสุกก็เสี่ยงได้รับเชื้อโรคจากการสัมผัสตัวหรือสารคัดหลั่งค้างคาว ก่อนปรุง  อย่างนักวิจัยเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกัน ดังนั้นสัตว์ป่าทุกชนิดไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค ย้ำค้างคาวบินสูง ไม่น่าจับมากินได้ง่าย ถ้าจับได้อาจตกลงมากับพื้น แสดงว่าอาจป่วย

ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานค้างคาว ถือว่าไม่ควรรับประทาน เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ป่า และปกติมีคลื่นโซนาร์ในตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ที่บินสูง ไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย  ถ้าจับได้ง่าย หรือตกลงกับพื้น แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค  แม้การปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด  แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัส และแบคทีเรีย

ขณะที่ นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลถึงการบริโภคค้างคาว ว่า การนำสัตว์แปลกมารับประทานมีอันตรายอย่างแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส ซึ่งบางชนิดก็ติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก

  เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบล่า(Ebola)หรือไข้เลือดออกอีโบลา ,ไวรัสซาร์ส ก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง, ไวรัสเมอร์ส ก่อโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง , ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ทื่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรน่า(Corona virus) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ด้วย 

ดังนั้น ไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว เพราะสัตว์รังโรค มักไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่แนะนำให้กินค้างคาวและสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปจับ อย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ เป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้  ที่ผ่านมามีรายงานพบเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ

ส่วนกรณี ครูสาวไลฟ์โชว์ ทำคอนเทนต์นำค้างคาว มาปรุงเป็นอาหาร  เมนูเปิบพิสดาร  ซึ่งนอกจากมีโทษหนัก  พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  แล้ว  ยังถือ ว่า เป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะมีโอกาสจะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งคนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลย ฉะนั้น ก็เสี่ยงอันตรายได้ รวมถึงการกินอาหารไม่สุกก็มีโอกาสติดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้น สัตว์ป่าทุกอย่างเราต้องปล่อยเขาอยู่ในป่า ไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค

 ซึ่งรพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กว่า 10 ปี เพื่อสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัส หรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ ส่วนหนึ่งเคยสำรวจค้างคาวในไทย ก็พบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์สโคฟ (Sars-CoV) เพียงแต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน 

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวแนะนำ