TNN online เข้าถ้ำ-โพรงต้นไม้ ต้องรู้! "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" มีอาการอย่างไร แนะใส่แมสก์

TNN ONLINE

Health

เข้าถ้ำ-โพรงต้นไม้ ต้องรู้! "โรคฮิสโตพลาสโมซิส" มีอาการอย่างไร แนะใส่แมสก์

เข้าถ้ำ-โพรงต้นไม้ ต้องรู้! โรคฮิสโตพลาสโมซิส มีอาการอย่างไร แนะใส่แมสก์

หมอมนูญ ไขข้อสงสัย "โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)" เกิดขึ้นได้อย่างไร เตือนจะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด

หมอมนูญ ไขข้อสงสัย "โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)" เกิดขึ้นได้อย่างไร เตือนจะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด


วันนี้( 5 ต.ค.65) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า


"โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) จากมูลค้างคาว หรือ นก เข้าปอด และบางคนอาจกระจายไปอวัยวะต่างๆเช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก ต่อมหมวกไต สมอง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย


ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ไปเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินเข้าโพรงต้นไม้ใหญ่อยู่ห่างคลองวังหีบประมาณ 200 เมตร เพื่อไปดูค้างคาว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที หลังจากนั้น 15 วันเริ่มไอแห้งๆ บางครั้งไอมีเสมหะสีขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินขึ้นบันไดเหนื่อย เบื่อหาร น้ำหนักลด 2 กิโลกรัม ไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดกระดูก 


ไปหาแพทย์วันที่ 5 ก.ย. 2565 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีก้อนเล็กๆกระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด และช่องท้อง พบก้อนเล็กๆในปอดกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง ก้อนในปอดด้านล่างขนาดใหญ่ถึง 1 เซนติเมตร  พบก้อนในต่อมหมวกไตข้างซ้ายขนาด 0.5 x 1.1 เซนติเมตร และม้ามโตเล็กน้อย ได้ทำผ่าตัด ตัดชิ้นเนื้อจากปอดด้านซ้าย 


ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่ามีเนื้อเยื่อตายและการอักเสบแบบแกรนูโลมา (necrotizing granulomatous inflammation) ไม่พบวัณโรค ย้อมสีพบเชื้อราลักษณะเป็นยีสต์ เพาะเชื้อราขึ้น Histoplasma capsulatum มีลักษณะเป็นราสาย Histoplasma อยู่ในกลุ่มรา 2 รูป (Dimorphic) อยู่ในเนื้อเยื่อมีรูปเป็นยีสต์ อยู่ในธรรมชาติมีรูปเป็นเส้นใยราสาย


สรุป: ผู้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส จากการหายใจสปอร์ Histoplasma capsulatum หลังจากเข้าไปในโพรงต้นไม้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 ทำให้เกิดปอดอักเสบ กระจายไปที่ต่อมหมวกไตและม้าม


วันที่ 19 ก.ย. 2565 เนื่องจากอาการไม่หนักมาก จึงเริ่มยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังกินยา 2 สัปดาห์ อาการและเอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้าๆ และจะให้ยารักษาต่อประมาณ 12 เดือน คนที่จะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด"



ขณะที่เว็บไซต์ หาหมอ.com ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับโรค ฮิสโตพลาสโมซิส ดังนี้


โรคฮิสโตพลาสโมซิสเกิดได้อย่างไร? เกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma capsulatum ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก การสูดหายใจเอาเชื้อนี้จากอากาศเข้าไปในปอด ก่อให้เกิดการติดโรคกับอวัยวะภายใน โดยเริ่มที่ปอดก่อน ซึ่งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ หรือได้รับเชื้อในปริมาณน้อย ร่างกายจะมีกระบวนการควบคุมเชื้อนี้ได้โดยสร้างพังผืดหุ้มร่วมกับการมีหินปูนไปจับเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยที่มักหายได้เอง


แต่ถ้าได้รับเชื้อปริมาณมาก หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง กระบวนการของร่างกายจะไม่สามารถควบคุมเชื้อนี้ได้ เชื้อจะก่อให้เกิดการลุกลามในปอด/ปอดอักเสบ ต่อมาลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก/ต่อมน้ำเหลืองช่องอกอักเสบ และลุกลามแพร่กระจาย เข้าสู่ระบบน้ำเหลือง เข้าสู่กระแสโลหิต แพร่กระจายเข้าสู่ทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วร่างกาย เช่น สมอง ตับ ม้าน กระดูก ไขกระดูก ผิวหนัง เรียกว่าเป็นโรคใน ‘ระยะแพร่กระจาย (Disseminated Histoplasmosis)’


นอกจากนี้ เมื่อผิวหนัง หรือเยื่อเมือก(เช่น ในช่องปาก)ที่มีบาดแผลสัมผัสเชื้อนี้โดยตรง ผิวหนังและเยื่อเมือกนั้นอาจติดเชื้อนี้โดยตรงได้ ซึ่งการติดเชื้อด้วยวิธีนี้ มักไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะภายใน จึงมักไม่เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง หรือการแพร่กระจายของเชื้อทั่วร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่เล็บ มือ และเท้า จากการพรวนดิน เป็นต้น


ใครมีปัจจัยเสี่ยงฮิสโตพลาสโมซิส?

-ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีเชื้อนี้เป็นโรคประจำถิ่น

-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง/ต่ำ เช่น

-ผู้สูงอายุ

-เด็กอ่อน

-ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์/ติดเชื้อเอชไอวี

-ผู้ใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือใช้ ยาสารเคมี/ยาเคมีบำบัด หรือ ยาCorticosteroid ต่อเนื่องเป็นเวลานาน


โรคฮิสโตพลาสโมซิสมีอาการอย่างไร?

โรคฮิสโตพลาสโมซิส จะก่ออาการได้ในระยะเวลาประมาณ 3วัน ถึงประมาณ 3 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) บางคนอาจมีอาการได้ภายใน 4-7 วัน

ในคนทั่งไปที่ได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่เป็นอาการไม่เฉพาะ ไม่รุนแรงที่มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องมีการรักษา อาการดังกล่าว เช่น อ่อนเพลีย, อาจมีไข้ , และมีอาการไอ






ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC  / หาหมอ.com 

ภาพจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC 

ข่าวแนะนำ