TNN online รู้จัก’พยาธิปอดหนู’ กินสุกๆ ดิบๆ ก่อให้เกิดโรค อันตรายถึงชีวิต

TNN ONLINE

Health

รู้จัก’พยาธิปอดหนู’ กินสุกๆ ดิบๆ ก่อให้เกิดโรค อันตรายถึงชีวิต

รู้จัก’พยาธิปอดหนู’ กินสุกๆ ดิบๆ ก่อให้เกิดโรค อันตรายถึงชีวิต

จากกรณีที่สาววัย 40 ปี ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา จนตาบอด หลังชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา ทีมงาน TNN Health จึงได้หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคพยาธิปอดหนู มานำเสนอเพื่อเป็นความรู้ให้กับแฟนเพจ

พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) เป็นพยาธิตัวกลมในสกุล Angiostrongylus ซึ่งตัวเต็มวัยที่แบ่งออกเป็น 2 เพศ ได้แก่ เพศผู้และเพศเมีย พบครั้งแรกในค.ศ. 1935 จากเส้นเลือดปอดหนูที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งมีการรายงานจํานวนผู้ติดเชื้อพยาธิปอดหนูโลกมากกว่า 2,827 ราย รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ป่วยมากถึง 1,337 ราย โดยพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2503 ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์วินิจฉัยมีสาเหตุมาจากการรับประทานหอยโข่ง
.

แหล่งที่พบ

ปัจจุบันสามารถพบพยาธิปอดหนูได้ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก 
.

อาหารอะไรที่พบพยาธิปอดหนู

ทั้งนี้ มนุษย์สามารถได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อจากการทานหอยชนิดต่าง ๆ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหอยน้ำจืด หอยบก ทาก รวมไปถึงพาราเทนิก เช่น กบ, คางคก, ลูกอ๊อด, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด และตะกวด เป็นต้น นอกจากนี้ การทานผักสดหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนระยะติดต่อก็สามารถทําให้ติดพยาธิปอดหนูได้
.

อันตรายที่ก่อให้เกิดโรค

มีรายงานว่า พยาธิปอดหนูทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7 – 30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ , ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก, คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา นอกจากนี้ ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้
.
ส่วนความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป และการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ 
.

ยารักษา

ปัจจุบันพยาธิปอดหนู ยังไม่มียาจําเพาะในการรักษาโรค สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไ,ส้ อาเจียน การให้ยาแก้ปวดก็สามารถที่จะระงับอาการของโรคได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาด้วยยา prednisolone
.
ที่มา  : บทความวิชาการ พยาธิปอดหนูและโฮสต์ตัวกลางในธรรมชาติ อับดุลฮากัม ดูมีแด* และอภิชาติ วิทย์ตะ ภาควิชาจุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ม.นเรศวร

ภาพ : คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร 

.
ติดตาม TNN Health ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
Line @TNNONLINE : https://lin.ee/4fP2tltIo
หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://www.facebook.com/TNN16LIVE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง