TNN online ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต อาการโรคหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์

TNN ONLINE

Health

ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต อาการโรคหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์

ฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต อาการโรคหลอดเลือดสมองด้วยหุ่นยนต์

การฟื้นฟูการทรงตัว และคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วย Robotic assisted gait training แก้ปัญหาอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะที่ผู้ป่วยหลายรายต้องเผชิญหลังพ้นขีดอันตราย เป็นเทคโนโลยีที่นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยรักษาผู้ป่วย มีแล้ว!ในเมืองไทย


นพ.ฐชิภัทร เสรีอรุโณ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีความเสี่ยงต่อภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตสูง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น การผ่าตัดหรือการได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งได้แก่ อาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขาครึ่งซีกของร่างกายหรือใบหน้า พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก ปวดหรือเวียนศีรษะทันทีทันใด มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวแบบฉับพลัน เดินเซและเสียการทรงตัว เป็นต้น 


“หลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองอย่างถาวร กระทบถึงคุณภาพชีวิตทั้งของตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว  อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในช่วง 3 – 6 เดือนแรก ซึ่งถือเป็น Golden Period หรือช่วงเวลาทองของการฟื้นตัวของระบบประสาท จะส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวที่มากขึ้น ตั้งแต่การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย การใช้งานของแขนและมือ  การยืนเดิน การทรงตัว การกลืน ไปจนถึงการพูด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ” นพ.ฐชิภัทรกล่าว


รู้จักหุ่นยนต์ฝึกกายภาพบำบัด


ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารใช้เทคโนโลยีการฝึกกายภาพบำบัดด้วยหุ่นยนต์ (robotic assisted gait training) ทำกายภาพบำบัดสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย 


  • Lokomat gait training หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและการยืนเดินจากโรคหลอดเลือดสมอง 

โดยตัวหุ่นยนต์มีข้อต่อบริเวณเข่าและสะโพกที่สามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ได้ใกล้เคียงธรรมชาติ ฝึกผู้ป่วยผ่านเกมส์ที่หลากหลาย ช่วยให้ผู้ป่วยเพลิดเพลินไปกับการฝึก และสามารถรับรู้ถึงพัฒนาการระหว่างการฝึกของตัวเองได้ ผู้ป่วยจึงมีกำลังใจในการฝึกและสามารถฝึกได้อย่างต่อเนื่อง C-Mill machine เครื่องช่วยฟื้นฟูการเดินและการทรงตัวในสภาพจำลองเสมือนจริง เช่น การเดินในสถานที่ต่าง ๆ การหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมพร้อมก่อนออกไปใช้ชีวิตสถานการณ์จริงอย่างมั่นใจ 


เครื่องมือดังกล่าวช่วยฟื้นฟูการทรงตัวและการก้าวเดิน ปรับจังหวะการก้าวเดินให้เหมาะสม โดยฝึกบนพื้นฐานการเล่นเกมส์และสถานการณ์จำลองที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ผู้ป่วยไม่เบื่อ ลดความกดดันและความเครียดขณะฝึก อีกทั้งยังช่วยให้มีกำลังใจในการฝึกอย่างต่อเนื่องจนถึงเป้าหมาย 


เน้นที่การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial) 

การทำกิจกรรมที่มีความจำเพาะ (task-specific) 

การมีสมาธิในการทำกิจกรรมที่ซับซ้อน (attention) 

และการตัดสินใจในการทำกิจกรรมหรือการบริหารจัดการ (executive function) 


  • KEEOGO หุ่นยนต์ช่วยเดิน

ช่วยให้ผู้ป่วยก้าวเดินอย่างมั่นใจและเดินได้ไกลขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ก้าวข้ามขีดจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันจากปัญหาการทรงตัว ช่วยให้ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีอาการปวด สามารถเดินได้ไกลและนานขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการขึ้น – ลงบันได พื้นต่างระดับ การนั่งยอง ๆ และลุกขึ้นจากพื้นได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่ปัญหาการยืนเดินและการทรงตัวที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การสูญเสียความสามารถในการใช้มือและแขนเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้อีกด้วย


ข้อมูล และ ภาพประกอบ : โรงพยาบาลเวชธานี 

.

ติดตาม TNN Health ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Website : https://www.tnnthailand.com/

Youtube : https://bit.ly/TNNHealthYoutube

TikTok : https://bit.ly/TNNHealthTikTok

Line @TNNONLINE : https://lin.ee/4fP2tltIo

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://www.facebook.com/TNN16LIVE/

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง