"โหวตนายกฯ" เช็กเสียง 750 สมาชิกรัฐสภา
นับถอยหลังแล้ว สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ซึ่งจะเริ่มโหวตเวลา 17.00 น. ในวันนี้ 13 ก.ค. ซึ่งผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา นั่นคือ 376 เสียง ดังนั้นเรามาดูแนวโน้ม การโหวตของพรรคการเมือง และ บรรดา ส.ว. รวม 750 คน ว่ามีแนวโน้มอย่างไร
ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ การเมืองไทยเดินหน้ามาถึงจุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งโดย มี ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง และสามารถรวมเสียงได้มากถึง 312 เสียง เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ทั้งนี้การจะส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นั่งนายกรัฐมนตรีได้นั้น จำเป็นต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่มาจากวุฒิสภา 250 เสียง และเสียงจากส.ส. 500 เสียง รวม 750 เสียง ซึ่งกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง
หากหยั่งเสียง ส.ว. 250 คน ขณะนี้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประกาศตัวชัดเจนว่าพร้อมจะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลได้รับฉันทานุมัติจากการเลือกตั้ง ที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ซึ่งกลุ่มนี้ช่วงแรกมีอยู่ประมาณ 20 คน แต่จากการตรวจเช็คเสียง ส.ว. กลุ่มนี้ พบว่าบางคนเริ่มเปลี่ยนแนวทางการทิศทางการโหวตจากเหตุก้าวไกลชูธงแก้ไข ม.112
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ประกาศตัวชัดเจน ว่า จะไม่โหวตให้นายพิธา อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายเสรีสุวรรณภานนท์ นายจเด็จ อินสว่าง นายสมชาย แสวงการ ด้วยเพราะก้าวไกลมีท่าทีชัดเจนจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ แต่จะขอรอดูสถานการณ์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเสียงส่วนใหญ่ อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช / และกลุ่มที่ 4 คือ ส.ว. ที่จะลงมติงดออกเสียงเพื่อจุดยืนความเป็นกลาง อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา รวมถึง ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง
นอกจากนี้หากเช็กเสียงของส.ส. 500 คน จากพรรคการเมืองแบ่งออกได้เป็น 2 ขั้วหลัก คือขั้วรัฐบาลใหม่ ที่มี 312 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 เสียง //พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทเป็นธรรม 2 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง
ส่วนขั้วรัฐบาลเดิม ที่มี 188 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง และพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนา 2 เสียง พรรคใหม่ , พรรคครูไทย,พรรคท้องที่ไทย และพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคละ 1 เสียง
เมื่อลงลึกถึงมติและทิศทางของพรรคการเมือง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ เริ่มชัดเจนแล้ว โดนพรรคขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียง ส่วนใหญ่ เตรียมงดออดเสียง เพราะไม่สนับสนุนการเดินหน้าแก้ไขม. 112 และไม่สนับสนุนเสียงข้างน้อย แต่ยังมีบางพรรคยังไม่ตัดสินใจ ขอดูสถานการณ์ในที่ประชุมประกอบด้วย
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ แน่นอน 312 เสียง ย้ำจุดยืน พร้อมโหวตนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกลเท่านั้น