TNN online 'พายุลูกใหม่' ต่อคิวดีเปรสชันกระหน่ำไทย 'ฝนตกหนัก' 3-4 ต.ค. อุตุฯชี้แจงแล้ว!

TNN ONLINE

Earth

'พายุลูกใหม่' ต่อคิวดีเปรสชันกระหน่ำไทย 'ฝนตกหนัก' 3-4 ต.ค. อุตุฯชี้แจงแล้ว!

'พายุลูกใหม่' ต่อคิวดีเปรสชันกระหน่ำไทย 'ฝนตกหนัก' 3-4 ต.ค. อุตุฯชี้แจงแล้ว!

เตือน ‘พายุลูกใหม่’ เข้าประเทศไทยหลังดีเปรสชัน ส่งผลกระทบฝนตกหนัก 3-4 ต.ค. กรมอุตุฯชี้แจงข้อมูลแล้ว

วันนี้ ( 29 ก.ย. 66 )จากกรณีที่มีคำเตือน สภาพอากาศ หลังจาก ‘พายุดีเปรสชันผ่านไป’ จะมีพายุลูกใหม่กลับเข้ามาทางเดิมอีก   ประมาณช่วงวันที่ 3-4 ต.ค. 66  ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาได้ชี้แจงข้อมูลพยากรณ์อากาศดังกล่าวว่า ไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ ประเด็นนี้ ‘เป็นข้อมูลเท็จ’


ทั้งนี้หากมี ‘พายุลูกใหม่’ เกิดขึ้นจริงและมีผลกระทบกับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศให้ทราบอย่างน้อยล่วงหน้า 3 วัน


สำหรับสภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางพื้นที่ 


ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข้อมูลเท็จ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา เท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน  1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลพยากรณ์อากาศดังกล่าวไม่ได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางพื้นที่


พยากรณ์สภาพอากาศ 7 วัน ล่วงหน้า  ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม พ.ศ.2566


ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศไทยตอนบนในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร


 ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 5 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวณเข้าสู่อ่าวไทยตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น 


ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร                                                         


ข้อควรระวัง : ในช่วงวันที่ 3 – 5 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย  ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


ข้อมูลจาก : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม / กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาพจาก AFP 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง