TNN online รู้จัก “พายุงวงช้าง” เกิดขึ้นจากอะไร-รุนแรงอันตรายหรือไม่?

TNN ONLINE

Earth

รู้จัก “พายุงวงช้าง” เกิดขึ้นจากอะไร-รุนแรงอันตรายหรือไม่?

รู้จัก “พายุงวงช้าง” เกิดขึ้นจากอะไร-รุนแรงอันตรายหรือไม่?

ทำความรู้จัก “พายุงวงช้าง” เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร มีความรุนแรงแค่ไหน อันตรายหรือไม่?

จากกรณี “พายุงวงช้าง” พัดถล่มอย่างรุนแรงและมีฝนตกลงมาอย่างหนัก  ทำให้โดมขนาดใหญ่ของโรงเรียนวัดเนินปอ  ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร  ซึ่งเป็นโดมสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ และออกกำลังกายของนักเรียนและผู้ปกครองภายในชุมชนพังถล่มเมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา   ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดจำนวน 7 ราย  ประกอบไปด้วย  เด็กนักเรียนจำนวน 4 ราย ภารโรง 1 ราย และผู้ปกครอง 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอสามง่าม อำเภอวชิรบารมีและโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 18 ราย ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า พายุงวงช้าง นั้น โดยปกติแล้วรุนแรงหรือไม่ 


ทำความรู้จัก  “พายุงวงช้าง”  เกิดจากอะไร 


พายุงวงช้าง หรือ พายุลมงวง เกิดจาก ลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุนด้วยความเร็วประมาณ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงมีลักษณะการหมุนบิดเป็นเกลียว เป็นลำเหมือนงวงช้างยื่นออกมาจากฐานเมฆคิวมูโลนิมบัส มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร  โดยที่เมฆคิวมูโลนิมบัส 1 ก้อน อาจทำให้เกิดลมงวงได้พร้อมๆ ทีละหลายงวง   ลมงวงสามารถดึงดูดทุกสิ่งที่อยู่ตามเส้นทางที่พายุเคลื่อนที่ไป   พายุลมงวงมักจะเกิดในที่ราบกว้างใหญ่ ถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ราบตอนกลางประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "พายุทอร์นาโด" (Tornado)  


สำหรับพายุลมงวงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีลักษณะเป็นพายุลมงวงขนาดเล็กมักเกิดขึ้นเหนือพื้นน้ำเรียกว่า "นาคเล่นน้ำ" (Water sprouts) เกิดจากเมฆพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงที่มีฐานเมฆต่ำและมีกระแสอากาศไหลลงรุนแรง จนเกิดเมฆเป็นลำพวยพุ่งลงมาจนใกล้ผิวทะเล และดูดน้ำจนเป็นลำพุ่งขึ้นไปรวมตัวกับก้อนเมฆในอากาศ เช่นเดียวกับพายุทอร์นาโด นาคเล่นน้ำมักเกิดขึ้นหลายๆ งวงพร้อมๆ กันจากฐานเมฆคิวมูโลนิมบัสก้อนเดียวกัน 


พายุงวงช้าง” อันตรายหรือไม่ 


พายุงวงช้าง หรือ นาคเล่นน้ำ  ส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่บางครั้งยาวมากถึง 600 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางก็พบได้ตั้งแต่เล็กๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร โดยในนาคเล่นน้ำแต่ละตัว อาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ โดยแต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที (หากลองเปรียบเทียบกับพายุทอร์นาโดซึ่งมักจะยาวประมาณ 100-300 เมตร และหมุนวนเร็วกว่าคือ 40-150 เมตรต่อวินาที) กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย


นอกจากหมุนวนรอบตัวเองแล้ว นาคเล่นน้ำยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับชาวเรือว่า ให้สังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม อย่างไรก็ดี พายุนาคเล่นน้ำมีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2-20 นาที (แต่นานถึง 30 นาทีก็เคยพบ) และหากนาคเล่นน้ำขึ้นฝั่ง ก็จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว


ข้อมูลจาก  : รวบรวมโดย TNN / ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์

ภาพจาก :   TNN 

ข่าวแนะนำ