TNN online “ฟ้าหลัว” ปรากฏการณ์ท้องฟ้าขุ่นมัวในฤดูร้อน

TNN ONLINE

Earth

“ฟ้าหลัว” ปรากฏการณ์ท้องฟ้าขุ่นมัวในฤดูร้อน

“ฟ้าหลัว” ปรากฏการณ์ท้องฟ้าขุ่นมัวในฤดูร้อน

ฟ้าหลัว คือลักษณะของอากาศที่มองเห็นเป็นฝ้าขาวเนื่องจากในอากาศมีอนุภาคต่างๆที่มองไม่เห็นปะปนอยู่จำนวนมากเช่นฝุ่นละออง ควันไฟ เกลือจากทะเลเป็นต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นในฤดูร้อนหรือวันที่มีอากาศร้อน

ในช่วงฤดูร้อน อีกหนึ่งสภาพอากาศที่มักพบเห็นเป็นประจำคือ “ฟ้าหลัว” ลักษณะของฟ้าหลัวก็คือปรากฏการณ์ที่มองไปไกลๆได้ไม่ชัด คล้ายกับหมอก แต่หมอกเกิดจากการที่มีไอน้ำแขวนลอยอยู่ในอากาศ ส่วนฟ้าหลัวหรือเรียกอีกอย่างว่าหมอกแดดนั้น เกิดจากฝุ่นละอองต่างๆลอยขึ้นมาแขวนในอากาศ ซึ่งสภาพอากาศแบบฟ้าหลัวนั้นมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากลักษณะของอากาศร้อนจะแห้งและเบา ทำให้อากาศลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ง่ายกว่ามวลอากาศเย็น และในขณะที่มันลอยตัว อากาศก็จะยกเอาพวกอนุภาคต่างๆขนาดเล็กเช่นฝุ่นละออง หมอกควัน เกลือจากทะเลเป็นต้นลอยขึ้นไปด้วย ซึ่งเมื่ออนุภาคของฝุ่นละอองเหล่านี้ลอยขึ้นไปในอากาศแล้วไปไหนไม่ได้ มันก็จะแขวนลอยอยู่ในอากาศ ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่แจ่มชัด ซึ่งแตกต่างกับช่วงฤดูหนาว ที่ฟ้ามักใสกว่า เนื่องจากมวลอากาศเย็นนั้นมีน้ำหนักมากกว่ามวลอากาศร้อน ก็เลยกดตัวลงมาสู่พื้นดินมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมา อากาศก็จะกดพวกฝุ่นละอองต่างๆให้อยู่กับพื้น ไม่ลอยขึ้นมา เลยทำให้ทัศนวิสัยในช่วงฤดูหนาวนั้นดีกว่าช่วงฤดูร้อน หรือฟ้าใสกว่านั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมองเผินๆนั้นฟ้าหลัวจะคล้ายกับหมอก แต่จะแตกต่างตรงที่ถ้าหากเป็นหมอกนั้น พอเจอแดดก็จะค่อยๆหายไป แต่ฟ้าหลัวจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน

ข่าวแนะนำ