TNN online เจาะความคิดคิม จองอึน ทำไมขยันยิงขีปนาวุธขนาดนี้

TNN ONLINE

World

เจาะความคิดคิม จองอึน ทำไมขยันยิงขีปนาวุธขนาดนี้

เจาะความคิดคิม จองอึน ทำไมขยันยิงขีปนาวุธขนาดนี้

เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธมากถึง 6 ครั้ง ในเดือนนี้ นับว่าเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เคยทดสอบมา

สำนักข่าว KCNA ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ เปิดเผยภาพล่าสุดในวันนี้ (28 มกราคม) เป็นภาพยืนยันการยิงทดสอบขีปนาวุธ 2 ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ เป็นครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 แล้วในเดือนมกราคมนี้


“คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ ไม่ได้ร่วมชมการยิงขีปนาวุธทั้ง 2 ครั้งล่าสุด แต่ KCNA เปิดภาพล่าสุดของผู้นำคิม ที่ไม่ได้มีรูปร่างสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ขณะกำลังเยือนโรงงานผลิตเครื่องกระสุนและยุทโธปกรณ์ในเกาหลีเหนือ


คิมระบุว่า โรงงานแห่งนี้ผลิตระบบอาวุธที่มีความสำคัญต่อเกาหลีเหนือ แต่ไม่มีการระบุสถานที่ตั้งโรงงานดังกล่าว หรือวันเวลาที่ชัดเจนที่คิมไปเยือน ระบุเพียงว่าเป็นเดือนนี้ (มกราคม) เท่านั้น


การยิงทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ 6 ของเกาหลีเหนือเมื่อวานนี้ ทำให้เดือนมกราคมนี้ สร้างสถิติใหม่กลายเป็นเดือนที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธมากที่สุดในเดือนเดียว และการยิงขีปนาวุธถี่มากของเกาหลีเหนือ ไม่ได้เกิดขึ้นมานาน 3 ปีแล้ว


ปีล่าสุดที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธบ่อยครั้งตลอดทั้งปีคือปี 2019 หลังจากที่การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำคิม กับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประสบความล้มเหลว


---คิม จอง อึน ต้องการอะไรกันแน่?---


การทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อปี 2017 ซึ่งญี่ปุ่นมีความกังวลมากกว่านี้ เพราะขณะนั้นเกาหลีเหนือไม่พูดพร่ำทำเพลง และได้ยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM ข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ช็อกกันไปทั่วทั้งโลก


แต่ในปีนี้ เกาหลีเหนือยังคงทดสอบเพียงขีปนาวุธพิสัยใกล้ ตกในทะเล ที่ยังนับว่าห่างจากชายฝั่งญี่ปุ่นอีกมากโข


นักวิเคราะห์ด้านการทหารต่างบอกว่า การเปิดตัวยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือล่าสุดนี้ แสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปสู่การเจรจายุตินิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ


---ไม่ใช่จะยิ่งเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์หรอกหรือ?---


ศาสตราจารย์ คิม ดอง ยับ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือของเกาหลีใต้ บอกว่า ในมุมมองของเขา


"สิ่งที่ผมเซอร์ไพรซ์ มีเพียงการประเมินเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือต่ำไป เพราะเขาได้พัฒนาศักยภาพด้านกองทัพเร็วกว่าที่เราคาดคิด" ศจ.คิม กล่าว


หลังการทดสอบเมื่อวันที่ 5 และ 10 มกราคม เกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile)


นั่นหมายความว่า เกาหลีเหนือกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีราคาแพงและซับซ้อน ซึ่งทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นนำมาประจำการอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนั่นคือเป้าประสงค์ของคิม ที่ต้องการทำให้ระบบป้องกันภัยของอริ ดูอ่อนแอลง


---เกาหลีเหนือก็เหมือนกับแมลงป่อง---


ที่ใช้หางในการป้องกันตัวเอง รวมถึงการโจมตี และสังหารคู่ต่อสู้ได้ด้วย


แต่ ศจ.คิมบอกว่า เป้าหมายหลักของเกาหลีเหนือ ไม่ใช่การโจมตี หากแต่เป็นการปกป้องตัวเอง


ศาสตราจารย์ไบรอัน อาร์ เมเยอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยดองซอ ในเมืองปูซานของเกาหลีใต้ บอกว่า เป้าหมายของเกาหลีเหนือในการทดสอบขีปนาวุธ คือเรื่อง "โครงการนิวเคลียร์" ของประเทศ


เขาเชื่อว่า เกาหลีเหนือหวังว่าจะใช้อาวุธที่มีในการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีใต้ และให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากภูมิภาคนี้เสีย และหลังจากนั้น เกาหลีเหนือก็จะมีเสรีภาพในการรับมือกับเกาหลีใต้ด้วยตัวเอง


---เพียงเรียกร้องความสนใจ---


ไม่เพียงเท่านี้ ศจ.เมเยอร์ส ยังประเมินว่า เกาหลีเหนืออาจต้องการให้สหประชาชาติ หรือ UN คว่ำบาตรมากขึ้น เพื่อจะได้เกิดการเจรจาให้ยกเลิกนิวเคลียร์และขีปนาวุธอีกครั้ง


ดังนั้น สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการ คือ เรียกร้องความสนใจ ให้คณะทำงานของสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจากันอีกครั้ง


ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้เรียกความสนใจของสหรัฐฯได้ไม่น้อย และตอนนี้นักวิเคราะห์ต่างก็มองว่า เกาหลีเหนือกำลังทำเช่นนั้นอีกครั้ง


"ผมว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีแบบแปลก ๆ" ศาสตราจารย์คิม ยัง จุน สมาชิกคณะที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งเกาหลีใต้กล่าว


"คิม จอง อึน ต้องการยกระดับการทดสอบขีปนาวุธไปให้ถึงจุดสูงสุด ก่อนที่จะแสดงท่าทีว่าต้องการเจรจาสันติภาพ...ดังนั้น เขาต้องการผลักดันให้โจ ไบเดน เริ่มต้นการเจรจา และนำไปสู่โร้ดแม็พที่จริงจังเสียที"


แต่ไม่รู้ว่าความหวังของคิม จะถูกดับฝันหรือเปล่า เพราะไบเดน ยังคงยุ่งวุ่นวายอยู่กับประเด็นวิกฤตรัสเซียอาจบุกยูเครน และอีกประเด็นคือ ไบเดนไม่มีความประสงค์เหมือนกับอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ในการมุ่งมั่นจะเจรจากับเกาหลีเหนือเลยแม้แต่น้อย


ไบเดนเคยเรียก "คิม" ว่าเป็น "ทรราช" (tyrant) ดังนั้น โอกาสที่ไบเดนจะเหลียวแล ความต้องการลึก ๆ ของคิมที่แฝงอยู่ ก็อาจเกิดขึ้นได้ยากไม่น้อย

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง