TNN online บาทแข็งโป๊ก! หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบเดือนครึ่ง

TNN ONLINE

Wealth

บาทแข็งโป๊ก! หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบเดือนครึ่ง

บาทแข็งโป๊ก! หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ทุบสถิติใหม่รอบเดือนครึ่ง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.89 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบเดือนครึ่ง หลังดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่นักลงทุนแห่เข้าเก็งกำไรทองคำอย่างต่อเนื่อง จับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.89 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบเดือนครึ่งนับจาก 16 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังดอลลาร์อ่อนค่า   โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเข้ามาเก็งกำไรแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนหุ้นกลุ่ม Reopening


 อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนเงินบาทในระหว่างที่อาจอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก เงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าหลุดระดับ แนวรับที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นระดับ Stop Loss ของผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนมีการปรับสถานะถือครองและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็วในระยะสั้น


อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่รีบแข็งค่าขึ้นไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น และเชื่อว่า การแข็งค่าของเงินบาทหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้ผู้นำเข้าบางส่วนเข้ามาแลกเงินดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทอาจหาแนวรับใหม่ได้ในช่วง 32.80 บาทต่อดอลลาร์  มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์  


ความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศษฐกิจที่ดีขึ้น หลัง Pfizer ประกาศผลการวิจัยยา PAXLOVID ที่สามารถลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้ถึง 89% รวมถึง รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ยังช่วยหนุนให้ ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09% นับเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2017 


ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.07% อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างรอประเมินทิศทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดในสัปดาห์นี้ รวมถึงรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง


ฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงราว -0.24% จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนบางส่วน เพราะโดยรวมแล้ว ผลประกอบการของบริษัทยังออกมาดีกว่าคาด และผู้เล่นในตลาดก็มีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนพ.ย. ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 18.3 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 


ทั้งนี้เรามองว่าในระยะสั้น ดัชนี STOXX50 มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง ตามแรงขายทำกำไร ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยเชิงเทคนิคัลที่ดัชนีปรับตัวชนแนวต้าน ทั้งนี้ การย่อตัวลงของตลาดหุ้นยุโรปจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและผลประกอบการยังมีแนวโน้มที่ดี


ขณะที่ตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มขายทำกำไรบอนด์ออกมาบ้าง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลง หลังจากบรรดาธนาคารกลางหลักต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุด แรงขายทำกำไรบอนด์ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 4bps สู่ระดับ 1.48% 


อย่างไรก็ดีเราคงมุมมองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้สะท้อนว่า ขาขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้จบลงแล้ว โดยบอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการทยอยถอนสภาพคล่องจากตลาดผ่านการลดคิวอีของบรรดาธนาคารกลาง 


ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 94.05 จุด หลังจากผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจากเดิมที่เคยมองไว้ ณ กลางปีหน้า เป็นช่วงไตรมาสที่ 3 


นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังถูกลดสถานะถือครอง ตามสภาวะตลาดการเงินที่ยังกล้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และแนวโน้มการไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 1,825 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโอกาสขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านในกรอบ 1,830-1,840 ซึ่งเราเชื่อว่า จะเห็นผู้เล่นทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้นในช่วงระดับราคาดังกล่าว 


สำหรับวันนี้ด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตา แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพ.ย.


โดยตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี อาจชะลอลงสู่ระดับ 20 จุด เช่นกัน (ดัชนี > 0 หมายถึง มุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) จากปัญหาด้าน Supply Chain ที่ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ การขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงราคาสินค้าต้นทุนที่แพงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจกดดันให้ฝั่งผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงได้เช่นกัน 


นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นมุมมองนโยบายการเงินจากผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังล่าสุด ทั้งสองธนาคารกลาง ต่างส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 


อย่างไรก็ตาม  นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงมุมมองของผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) รวมถึงประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองของประธานเฟด Powell ต่อแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ในช่วงคืนก่อนหน้า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจต้องรอการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงานและมองว่าปี 2023 อาจมีความเหมาะสมต่อการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าจะเป็นปีหน้า






ที่มา : ธนาคารกรุงไทย


ภาพประกอบข่าว :  ธนาคารกรุงไทย

ข่าวแนะนำ