TNN online แบงก์รัฐขนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้เริ่มหมื่นบาท - 200ล้านบาท

TNN ONLINE

Wealth

แบงก์รัฐขนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้เริ่มหมื่นบาท - 200ล้านบาท

แบงก์รัฐขนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ   ปล่อยกู้เริ่มหมื่นบาท - 200ล้านบาท

สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่งขนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอีวงเงินกว่า 4.35 แสนล้าน เริ่ม 1 หมื่นบาท-200 ล้านบาท ประคองธุรกิจ-ต่อลมหายใจชาวบ้าน ขณะที่กรมสรรพากรเตรียมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโอนทรัพย์จูงใจธุรกิจเข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. เปิดเผยว่า  ในสัปดาห์นี้กรมสรรพากรเตรียมออกประกาศมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีการโอนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนโครงการพักทรัพย์พักหนี้วงเงิน 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าพักทรัพย์พักหนี้เพิ่มขึ้น จากยอดอนุมัติ 14 ราย คิดเป็น 959 ล้านบาท โดยสามารถเปิดยื่นได้ยาวจนถึงวันที่ 9 เม.ย. 66


นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 ธปท. กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท ได้อนุมัติสินเชื่อ 23,687 ราย คิดเป็น 72,391 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 44.5% ประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ 67.6% และลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด 68.5% โดยวงเงินสินเชื่อหากเป็นลูกหนี้เดิม จะกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท และนับรวมสินเชื่อซอฟต์โลนเดิมด้วย ส่วนลูกหนี้ใหม่ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท นับรวมทุกสถาบันการเงิน 


หันมาดูทางฝั่งสถาบันการเงินของรัฐพบว่า จากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดหนักใน 13 จังหวัดทำให้ภาครัฐต้องยกระดับคุมเข้มพื้นที่สีแดงส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่างได้รับผลกระทบขาดสภาพคล่อง  สถาบันการเงินของรัฐ  7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือไอแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้รวบรวมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับใช้ปล่อยกู้ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรวมกว่า 4.35 แสนล้านบาท ให้วงเงินกู้ตั้งแต่หลัก 1 หมื่นบาท จนถึงสูงสุด 200 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขผ่อนปรน


ทั้งนี้ประกอบด้วย สินเชื่อสำหรับลูกหนี้รายย่อย 103,000 ล้านบาท อาทิ ออมสินมีสินเชื่อสู้ภัยโควิด 13,419 ล้านบาท ต่ออายุสินเชื่อเสริมพลังฐานรากสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 12,840 ล้านบาท ธ.ก.ส. มีสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ 30,000 ล้านบาท สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน 60,000 ล้านบาท ไอแบงก์ มีสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม 191 ล้านบาท นอกจากนี้ มีสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทยเหลืออีกกว่า 177,608 ล้านบาท


ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอี ช่วยเหลือทั้งกลุ่มท่องเที่ยว การค้าและบริการ การเกษตร และภาคส่งออก มีวงเงินเหลือ 155,000 ล้านบาท และวงเงินค้ำประกันโดย บสย. อีก 89,000 ล้านบาท อาทิ ออมสิน มีสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทยเหลือ 3,789 ล้านบาท ซอฟต์โลนสำหรับท่องเที่ยว 6,180 ล้านบาท สินเชื่ออิ่มใจ 2,000 ล้านบาท ธพว.มีสินเชื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 7,160 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอีมีสุข เอสเอ็มอียิ้ม ได้ อย่างละ 5,000 ล้านบาท สมาร์ทเอสเอ็มอี 17,849 ล้านบาท ธ.ก.ส. มีสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย 40,215 ล้านบาท สินเชื่อเสริมแกร่งเอส เอ็มอีเกษตร 29,795 ล้านบาท เอ็กซิมแบงก์มีสินเชื่อเอ็กซิมจัมพ์สตาร์ท 5,000 ล้านบาท ซีแอลเอ็มวีอุ่นใจ 999 ล้านบาท ไอแบงก์มีสินเชื่อ สมอล์ เอสเอ็มอี 259 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ