TNN online "ขอคืนภาษี" แต่พบปัญหาติดขัดต้องทำอย่างไร?

TNN ONLINE

Wealth

"ขอคืนภาษี" แต่พบปัญหาติดขัดต้องทำอย่างไร?

ขอคืนภาษี แต่พบปัญหาติดขัดต้องทำอย่างไร?

ไขข้อสงสัย “ขอคืนภาษี” พบปัญหา กรมสรรพากร แนะนำวิธีแก้ไขไว้ให้แล้ว ทำอย่างไรได้บ้าง

ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเตอร์เน็ตถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นภาษีมาแล้ว แต่ผู้ที่ "ขอคืนภาษี"  บางรายอาจจะติดขัดบ้างในบางขั้นตอน ซึ่ง กรมสรรพากร ได้แนะนำวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเองในเบื้องต้นเอาไว้ 

โดย กรมสรรพากร ได้รวบรวมคำถามหรือข้อสงสัยที่ประชาชนที่ "ขอคืนภาษี" พบบ่อยไว้ทั้งหมด 7 คำถามด้วยกัน ได้แก่

1. เช็กสถานะ ขอคืนภาษี ได้ช่องทางไหนบ้าง?

ผู้ "ขอคืนภาษี" สามารถตรวจสอบสถานะการ ขอคืนภาษี ในเบื้องต้นที่ เว็บไซต์สรรพากร จากนั้นคลิก E-FILING, คลิก ส่ง / ตรวจสอบการส่งเอกสารประกอบการคืนภาษี หรือ เว็บไซต์สรรพากร จากนั้น คลิก ห้องข่าว, คลิก ข่าวสารอื่นๆ และคลิก ส่ง/ตรวจสอบการส่งเอกสารประกอบการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนกรณีผู้ยื่นภาษีส่งเอกสารพร้อมใบนำส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และจ่าหน้าซองถูกต้อง จะสามารถตรวจสอบได้จากใบตอบรับ หรือที่เว็บไซต์ www.Thailandpost.com อีกช่องทางหนึ่ง

2. หากไม่ได้รับเช็คคืนเงินภาษี ควรทำอย่างไร? 

ในกรณีผู้ยื่นภาษีตรวจสอบสถานะ “คืนเงินภาษี”  แล้วพบว่า มีการส่งเช็คคืนเงินภาษีให้แล้ว แต่ไม่ได้รับ เนื่องจากการเปลี่ยนที่อยู่ หรือไม่ได้เปลี่ยนที่อยู่แต่ยังไม่ได้รับเช็ค  ให้ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตามที่ระบุไว้ในแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพื่อขอรับเช็คฉบับดังกล่าว หรือยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่  โดยต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา และหนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา ในการยื่นคำร้องอีกครั้ง

ขอคืนภาษี แต่พบปัญหาติดขัดต้องทำอย่างไร?

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติม โดยได้รับคืนเงินภาษีลดลง/เพิ่มขึ้น

กรณีผู้ ขอคืนภาษี ที่ยื่นแบบฯ มากกว่า 1 ฉบับ เนื่องจากได้ทำรายการยื่นแบบฯ เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงรายการ เป็นผลให้ได้รับเงินคืนภาษีลดลง/เพิ่มขึ้น  เมื่อผู้ขอคืนเงินภาษีได้รับเช็คคืนเงินภาษีฉบับแรกจากกรมสรรพากรแล้ว ผู้ขอคืนเงินภาษีสามารถดำเนินการ ได้ดังนี้

  • กรณีได้รับเช็คฉบับแรกเป็นจำนวนเงิน “มากกว่า” การยื่นแบบฯ ฉบับเพิ่มเติม ให้ผู้ขอคืนเงินภาษีนำเช็คฯ ส่งคืนให้แก่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามหนังสือแจ้งคืนเงินฯ และกรมสรรพากรจะพิจารณาคืนเงินภาษี ตามแบบฯ ที่ถูกต้องให้ต่อไป
  • กรณีได้รับเช็คฉบับแรกเป็นจำนวนเงิน “น้อยกว่า” การยื่นแบบฯ ฉบับเพิ่มเติม ผู้ขอคืนภาษีสามารถนำเช็คคืนเงินฉบับแรกเข้าบัญชีได้ทันที และ กรมสรรพากรจะจัดส่งเช็คคืนเงินภาษีในส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ขอคืนภาษีต่อไป

4.ถ้าเช็คคืนเงินภาษีชำรุด สูญหาย หรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินควรทำอย่างไร? 

หากเช็คคืนเงินภาษีที่ได้รับชำรุด หรือสูญหาย หรือธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่น คำนำหน้าชื่อไม่ถูกต้อง หรือชื่อ/นามสกุลไม่ถูกต้อง หรือเช็คเกิน 6 เดือน ให้นำเช็คดังกล่าว (ถ้ามี) ติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตามที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการ เพื่อยื่นคำร้องขอออกเช็คฉบับใหม่

โดยเอกสารที่ใช้ประกอบคำร้อง มีดังนี้

1.บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา

2.หนังสือแจ้งความ กรณีผู้ขอคืนทำเช็คที่ได้รับสูญหาย

3.หนังสือแจ้งเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล กรณีเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล

4.หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทน และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา

5. ได้รับเช็คคืนเงินภาษี แต่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารหรือ เข้าบัญชีไม่ได้ ทำอย่างไร? 

กรณีผู้ "ขอคืนภาษี" มีภูมิลำเนาตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในเขตกรุงเทพฯ ให้นำเช็คคืนเงินภาษีไปแลกเป็นเงินสดที่ สำนักบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร ชั้น 7 อาคารกรมสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7  ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

กรณีมีภูมิลำเนาตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในต่างจังหวัด ให้นำเช็คคืนเงินภาษีไปแลกเป็นเงินสดที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานสรรพากรพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ

ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ประกอบการแลกเช็คเป็นเงินสด ได้แก่ 

1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางกรณีคนต่างด้าว พร้อมสำเนา

2.หนังสือจัดตั้งคณะบุคคล กรณีคณะบุคคล

3.หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นกระทำการแทนและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจพร้อมสำเนา

ขอคืนภาษี แต่พบปัญหาติดขัดต้องทำอย่างไร?

6. หากไม่เห็นด้วย กรณีไม่ได้รับเงินคืนภาษี หรือได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่าที่ขอคืน ทำอย่างไร? 

กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอคืนเงินภาษี แต่ไม่ได้รับเงินคืนภาษีที่ขอคืน หรือได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่าที่ขอคืน หากไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคืนเงินภาษีดังกล่าว ให้ทำหนังสืออุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ค.30 ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในหนังสือแจ้งไม่คืนเงินฯ  โดยจัดทำหนังสืออุทธรณ์ขึ้นเองและชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมแนบเอกสารประกอบ

7. ระยะเวลาในการได้รับเงินคืนภาษีกำหนดไว้อย่างไร ? 

กรมสรรพากร กำหนดจะดำเนินการ คืนภาษี ภายใน 3 เดือน กรณีมีเอกสารชัดเจนแสดงว่า ได้มีการเสียภาษีไว้เกิน ผิด ซ้ำ หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอคืนเงินภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90/91 ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษี หรือแบบ ค.10



ข่าวแนะนำ