TNN online ผลศึกษาความยากจนหลายมิติของเด็ก พบ 'อีสาน' ครองแชมป์

TNN ONLINE

Wealth

ผลศึกษาความยากจนหลายมิติของเด็ก พบ 'อีสาน' ครองแชมป์

ผลศึกษาความยากจนหลายมิติของเด็ก พบ 'อีสาน' ครองแชมป์

สภาพัฒน์-ยูนิเซฟ แถลงผลการศึกษาล่าสุด พบ ภาคอีสานมีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กสูงสุด ขณะที่จังหวัดที่เด็กพบกับความยากจนรุนแรงที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน และตาก

วันนี้ (11 ก.ย.62) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แถลงผลการศึกษาล่าสุด "ด้านความยากจนหลายมิติของเด็ก" พบว่า ในประเทศไทยมีเด็กประมาณ 1 ใน 5 หรือ ร้อยละ 22 ที่กำลังเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ  

ทั้งนี้ เด็กยากจนหลายมิติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตชนบท คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เด็กที่ยากจนหลายมิติที่อยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 19 และเมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่า "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กสูงสุด ตามมาด้วย "ภาคเหนือ" ขณะที่ "กรุงเทพมหานคร" มีระดับความยากจนหลายมิติของเด็กน้อยที่สุด

งานศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า "จังหวัดแม่ฮ่องสอน" และ "จังหวัดตาก" เป็นสองจังหวัดที่เผชิญกับความยากจนในระดับที่รุนแรงที่สุด หมายความว่า ต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลากหลายด้านมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า เด็กในแต่ละภูมิภาคประสบความยากจนในมิติที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดสตูล ความยากไร้ด้านการศึกษาของเด็กเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความยากจนในเด็ก ในขณะที่เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับเผชิญความยากลำบากในมิติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากที่สุด

การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าความยากจนในเด็กในประเทศไทยลดลงอย่างมากในระหว่างพ.ศ. 2548-2559 ทั้งในสัดส่วนของเด็กยากจนและระดับความรุนแรงของความยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในการแก้ปัญหาความยากจนในเด็ก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็ก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย

ข่าวแนะนำ