TNN เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

TNN

Wealth

เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดข้อมูลเกี่ยวกับ การขอสินเชื่อไม่ผ่าน โดยระบุว่า ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน... ก่อนที่ผู้ให้กู้จะปล่อยเงินสินเชื่อให้เรา มีปัจจัยหลากหลายที่ต้องดู

ทั้งความน่าเชื่อถือของแหล่งรายได้ วงเงินที่ขอกู้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา หรืออาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อายุงานน้อยกว่าหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้กู้ตั้งไว้

ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน

สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน มีอะไรบ้าง

หากมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อ สิ่งสำคัญอันดับแรกที่เราต้องพิจารณาคือความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง จากนั้นจึงเลือกประเภทของสินเชื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ แล้วทำความเข้าใจในกระบวนการและเงื่อนไขในการขอสินเชื่อ เพื่อให้เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมและได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ยื่นขอ

เอกสารประจำตัว

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ

สำเนาทะเบียนบ้าน

สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร

สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)

กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น 

ผู้มีรายได้ประจำ

ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง

สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

ผู้มีอาชีพอิสระ

กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง

กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย

บัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน

หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร

นิติบุคคล

สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี

สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี

สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน

แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ

เอกสารอื่น ๆ  เช่น 

สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ

สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์

สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม

ในกรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานประจำตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วม

ในกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นคือแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจของ SMEs แผนโครงการที่ต้องการดำเนินการ

ทั้งนี้ เอกสารในการยื่นขอสินเชื่อแต่ละประเภทอาจแตกต่างกันออกไป ดังนั้น เราควรศึกษาหรือสอบถามรายละเอียดจากผู้ให้สินเชื่ออีกครั้ง นอกจากนี้ ในการขอสินเชื่ออาจมีแบบฟอร์มอื่น ๆ ที่แนบมา ซึ่งเราควรพิจารณาก่อนกรอกข้อมูลและลงนาม เช่น

แบบคำยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อขอตรวจสอบประวัติเครดิตจาก เครดิตบูโร และนำมาวิเคราะห์การให้วงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม

แบบคำขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของผู้ให้สินเชื่อติดต่อ แนะนำสินค้าอื่น หรือให้ข้อมูลแก่ผู้อื่น ซึ่งเรามีสิทธิเลือกที่จะลงนามหรือไม่ก็ได้

ใบคำขอประเภทอื่น เช่น คำขอมีบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบริการแจ้งเตือน SMS

การค้ำประกันและหลักประกัน

การค้ำประกันและหลักประกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้ให้สินเชื่ออาจใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อให้มั่นใจว่าหากผู้ขอสินเชื่อชำระหนี้ไม่ได้ สถาบันการเงินยังมีทางที่จะได้เงินคืน เช่น สามารถยึดหลักประกันมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หรือให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน โดยหลักทรัพย์ที่นิยมนำมาเป็นหลักประกัน เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงิน หุ้นกู้ และอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีสินเชื่อที่มีบุคคลค้ำประกัน สถาบันการเงินก็จะพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันประกอบด้วย

สิ่งที่ควรทำเมื่อเป็นผู้ค้ำประกัน

อย่าลืมว่าผู้ค้ำประกันไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะเกิดตามมาได้หากลูกหนี้ผิดสัญญา ดังนั้น หากต้องเป็นผู้ค้ำประกันให้ผู้อื่นควรปฏิบัติดังนี้ 

1. อ่านเงื่อนไขในการค้ำประกันให้ละเอียด 

2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ำประกัน 

3. ตรวจสอบความถูกต้องของวงเงินและประเภทของสินเชื่อที่ค้ำประกันที่ระบุในสัญญา ซึ่งแบงก์ชาติกำหนดว่าจะต้องระบุวงเงินของเงินต้นที่ค้ำประกันในสัญญาให้ชัดเจน และห้ามทำข้อตกลงว่าให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน 

4. หากสงสัยอะไรรีบถามก่อนลงชื่อในสัญญา

เกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาสินเชื่อ

ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับนโยบายและหลักเกณฑ์ของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย 

โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการพิจารณา คือ 

- นโยบายสินเชื่อของผู้ให้สินเชื่อ เช่น ผู้ให้สินเชื่อบางรายอาจกำหนดว่าผู้ยื่นขอสินเชื่อต้องไม่มีประวัติการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืองดให้สินเชื่อแก่ลูกค้าใหม่ในกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

- วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือลงทุนขยายโรงงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต

- คุณลักษณะและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ 

ทำไมขอสินเชื่อไม่ผ่าน ทั้งที่ให้ข้อมูลครบถ้วนและไม่มีประวัติหนี้เสีย

การขอสินเชื่อไม่ผ่านอาจมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น

1. นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ แต่ละแห่งที่แตกต่างกัน

2. ภาระหนี้ที่มีอยู่ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ หากมีภาระหนี้สินอยู่มาก หรือมีรายได้ต่ำก็อาจมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มาก ซึ่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

3. ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้

4. หลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ เช่น ผู้ค้ำประกันมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ

แต่ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไรก็ตาม ถ้าผู้ขอสินเชื่อต้องการขอทราบเหตุผลของการไม่ปล่อยสินเชื่อ แบงก์ชาติกำหนดให้สถาบันการเงินชี้แจงเหตุผลให้ผู้ขอสินเชื่อทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 

เปิดข้อมูล สิ่งที่ควรรู้เมื่อขอกู้เงิน ทำไมถึงขอสินเชื่อไม่ผ่าน?



ข้อมูลจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ภาพจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน / TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ