TNN "เคอรี่" ขาดทุน 2 พันล้าน ปี65 สะท้อนธุรกิจขนส่งสินค้ายังสาหัส?

TNN

Wealth

"เคอรี่" ขาดทุน 2 พันล้าน ปี65 สะท้อนธุรกิจขนส่งสินค้ายังสาหัส?

เคอรี่ ขาดทุน 2 พันล้าน ปี65 สะท้อนธุรกิจขนส่งสินค้ายังสาหัส?

ผลประกอบการของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ปี 2565 มีผลขาดทุนถึง 2 พันล้านบาท สะท้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจขนส่งสินค้า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และต้นทุนต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้น

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลดำเนินงานประจำปี 2565 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 2,829 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีผลกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท ลดลง 6,131.5% และมีรายได้รวม 17,003 ล้านบาท ลดลง 9.6% จากปีก่อนหน้า และ มีต้นทุนการขายและให้บริการ 18,685 ล้านบาท โดยสาเหตุมาจากต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 22.5% รวมถึงตลาดแรงงานที่มีสภาวะตึงตัวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายการขายและการบริหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 44.7% อยู่ที่ 1,996 ล้านบาท 


แต่ในปีที่ผ่านมา เคอรี่สามารถเพิ่มการจัดส่งพัสดุได้เพิ่มขึ้น 18% แต่ด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้รายได้ของบริษัทนั้นลดลงจากการปรับลดราคาค่าส่งพัสดุ และทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงการระบาดโควิด-19 เมื่อตลาดกลับเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ ตามด้วยการเปิดประเทศ และธุรกิจ E-Commerce เติบโตชะลอตัวลง ทำให้เคอรี่ ไม่สามารถลดต้นทุนการจัดส่งต่อหน่วยได้รวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ 


ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นรายได้หลักของบริษัท กลายเป็นกลุ่ม B2C (Business to Consumer) ถึง 50% ส่วนปี 2564 อยู่ที่ 45% ต่างจากเมื่อปี 2564 กลุ่มลูกค้าที่เป็นรายได้หลักคือ กลุ่ม C2C (Consumer to Consumer)ที่ 53% จาก48% ในปี 2564 


ในไตรมาส 4 ปี 2565 เคอรี่ฯได้ปรับลดค่าใช้จ่ายทรัพยากรส่วนเกินเชิงรุก ปรับโครงสร้างของพนักงานในองค์กร โดยมีรายงานว่า เคอรี่ลดจำนวนพนักงานลง 20% หรือประมาณ 4,000 กว่าคน ในปีที่ผ่านมา 


นอกจากนี้ ยังปิดสาขาจุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุที่มีต้นทุนสูง และประสิทธิภาพต่ำ การปรับปรุงการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 384 ล้านบาท ใน 2565 รวมถึงค่าชดเชยพนักงาน และใช้จ่ายในการปิดสาขา และศูนย์บริการต่าง ๆ


ในปี 2566 เคอรี่ประกาศใช้แผนเชิงรุก ด้วยแนวคิดแบบ LEAN โปรแกรม เข้ามาปรับใช้ในการทำงาน รวมถึงแผนการลงทุนเพื่อเร่งพัฒนาประสิทธิภาพด้านการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน


แผนเชิงรุกดังกล่าว ประกอบด้วย การลดต้นทุนในการจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด และยกเลิกการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า / การลดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง / การงดและจำกัดการรับพนักงานเพิ่มชั่วคราวในทุกแผนก และการปิดจุดการให้บริการในสาขาที่ผลประกอบการไม่เป็นไปตามกำหนด ปรับปรุงสัดส่วนรายได้ตามกลุ่มลูกค้า (Revenue Mix) ที่เหมาะสมของบริษัท และมุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการที่ดี เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย


นอกจากนี้ ยังเร่งการลงทุนในด้านการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบที่จะเข้ามาพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติยิ่งขึ้นในหลาย ๆ ด้าน โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ชุดแรกจะมาถึงกรุงเทพฯ ในไตรมาสแรก และจะพร้อมใช้งานภายในไตรมาส 2 นี้ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน 


ผลประกอบการที่ขาดทุนของเคอรี่ฯ แม้อาจจะไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าได้ทุกราย เนื่องจากเคอรี่ฯเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงรายเดียว แต่เคอรี่ฯ ในฐานะเป็นผู้นำตลาดนี้ ที่ต้องลดราคาการขนส่ง แข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ยังสะท้อนถึงการแข่งขันและสงครามราคาในอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้การค้าออนไลน์ รวมทั้ง E-Commerce และ E-marketplace ลดความร้อนแรงลง และผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้ รวมทั้งต้นทุนต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้น 


ขณะที่ศูนย์วิจัยต่าง ๆ มองว่า ธุรกิจเหล่านี้ยังมีการแข่งขันสูง โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ เคยแนะนำไว้เมื่อปี 2565 ว่า การแข่งขันของธุรกิจรับ-ส่งพัสดุในปี 2565 การแข่งขันด้านราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง จากที่ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา อีกทั้ง ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่เร่งขยายการให้บริการ


และ แนวโน้มการลดลงของค่าจัดส่งพัสดุจากการแข่งขันอาจจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอัตราค่าจัดส่งพัสดุในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มให้บริการไม่คุ้มทุนแล้ว และมีบางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่องหลายปี หรือแม้กระทั่งปิดกิจการไป ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการก็ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น


ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรเริ่มปรับตัวและขยายบริการไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้าง Blue Ocean มากยิ่งขึ้น ได้แก่

1. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

2. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL)

3. เทรนด์การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร

4. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน ทั้งสินค้าแบบแช่เย็นและแช่แข็ง


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการแข่งขันภายในสูง ถึงแม้จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจต้องพึ่งพาผู้บริโภคเป็นหลัก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีการนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfillment) การขยายพื้นที่การให้บริการ การขายแฟรนไชส์ และการลดราคาค่าบริการจัดส่งพัสดุ 


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของต้นทุนค่าขนส่งทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วงปี 2561-2565 ผู้ประกอบการหลายราย ยังคงมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ลดลงหรือขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม 


ในขณะที่เริ่มเห็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นบวกในปี 2565 จากกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce บางรายแล้ว


ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น แม้ว่าทิศทาง E-Commerce จะเติบโตต่อไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมที่ไม่ได้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาตลาดในเชิงคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง ระยะเวลาการจัดส่ง และการจัดการการส่งคืนสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการอีกครั้งและเกิดการบอกต่อ


นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องขยายการบริการไปยังตลาดเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น การบริการรับ–ส่งสินค้าตามความต้องการ (On-Demand Delivery Service) และการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น หรือการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายการบริการให้ครบวงจร เช่น ห้างสรรพสินค้าที่มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการส่งสินค้าเป็นประจำ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ใช้ช่องทางในการบริการได้หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีกด้วย 



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ