TNN สัปดาห์นี้คาดราคาทองคำปรับตัวลงไม่มาก และจะสร้างฐานบริเวณ 1,800 ดอลลาร์

TNN

Wealth

สัปดาห์นี้คาดราคาทองคำปรับตัวลงไม่มาก และจะสร้างฐานบริเวณ 1,800 ดอลลาร์

สัปดาห์นี้คาดราคาทองคำปรับตัวลงไม่มาก และจะสร้างฐานบริเวณ 1,800 ดอลลาร์

สัปดาห์นี้คาดว่าราคาทองคำปรับตัวลงไม่มาก และราคาทองคำคาดจะสร้างฐานบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ และอาจจะมีการ rebound ขึ้น ทั้งนี้สามารถเข้าซื้อทองคำระยะสั้นบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ และ 1,785 ดอลลาร์

เมื่อสงครามรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อและกำลังเข้าสู่ปีที่ 2 หลังจากที่รัสเซียได้มีการบุกยูเครนนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ซึ่งก็ได้สร้างความกังวลทั่วโลกว่าสงครามอาจบานปลาย จนกลายเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในช่วงขณะนั้น โดยผลกระทบของสงครามได้ส่งผลให้ทางด้านสหรัฐ EU และประเทศพันธมิตรได้มีการออกมาตรบาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวกับรัฐบาลรัสเซีย ห้ามไม่ให้ใช้หนี้ด้วยเงินต่างประเทศที่มีอยู่ในธนาคาสหรัฐ ธนาคารใหญ่ ๆ ของรัสเซียไม่สามารถใช้ระบบ “Swift” คว่ำบาตรอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง ธนาคาร ภาคการผลิตเหมืองแร่ของรัสเซีย หรือแม้แต่การคว่ำบาตรล่าสุด โดยการห้ามส่งออกน้ำมันดิบไปยัง EU และ G7 จากที่ EU และ G7 พากันจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับรัสเซียมากนัก เพราะปัจจุบันน้ำมันอูราล ซึ่งเป็นน้ำมันหลักของรัสเซีย  มีการซื้อขายต่ำกว่าราคา 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  แต่นับตั้งแต่เกิดสงคราม ก็ทำให้ราคาน้ำมันอูราลปรับลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์มาตรฐานระดับโลกอย่างมาก จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้มาก แต่จะมีผลต่อราคาน้ำมันเมื่อปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต 


ทั้งนี้การคว่ำบาตรรัสเซียที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากในสหภาพยุโรป เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม OPEC รองจากซาอุดีอาระเบีย หรืออันดับ 3 ของโลก และรัสเซียส่งก๊าซให้ยุโรปคิดเป็นสัดส่วน 35% แต่สิ่งที่มีผลกระทบทางอ้อมที่สำคัญ ผลกระทบดังกล่าวเริ่มทำให้โลกเข้าสู่การแบ่งขั้วอำนาจกันมากขึ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยเฉพาะลิทัวเนีย จากที่เคยนำเข้าน้ำมันดิบร้อยละ 83 หรือประมาณ 185,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงเหลือเพียง 1% เท่านั้น ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น ฟินแลนด์ ก็ลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไปไม่ถึง 10% จากที่เคยนำเข้าน้ำมันในรัสเซียปี 2564 มากถึง 80% ส่วนสเปน อังกฤษ โปรตุเกส สวีเดน ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย งดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในปีที่แล้ว แต่ตรงข้ามกับสโลวาเกีย ฮังการี ตุรกี รัฐเช็ก และอิตาลี ที่นำเข้าน้ำมันรัสเซียมากขึ้นจากปี 2564 ส่งผลให้รัสเซียหันไปขายน้ำมันให้อินเดีย จีนและตุรกีเพิ่มมากขึ้น โดยคิดรวมกันเป็น 70% ของน้ำมันดิบรัสเซีย ด้วยข้อเสนอขายราคาน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งเมื่อต้นปี 2565 รัสเซียส่งออกน้ำมันไปยังอินเดียน้อยกว่า 2% แต่ขณะนี้กำลังจะกลายเป็นซัพพลายเออร์รายเดียวที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่รัสเซียได้กลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดไปยังจีน แทนที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจีนได้เพิ่มปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียขึ้นอีก 55%-60% จากหนึ่งปีก่อนหน้า 


แม้ว่าในช่วงฤดูหนาวนั้นด้วยสภาพอากาศที่อาจส่งผลด้านลบต่อการทำสงคราม แต่สงครามรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้ยูเครนได้ขอรถถังแก่ประเทศต่าง ๆ และจะได้รับรถถัง Leopard 2 จากเยอรมนี จะจัดส่งมา 14 คัน   และคาดว่าจะถึงประมาณปลาย มี.ค. ต้นเดือนเม.ย. ขณะที่สัญญาว่าพันธมิตรในยุโรปจะส่งมารวม 80 คัน  รถถัง Leclerc จะได้รับจากฝรั่งเศส และเจ้ามหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐ สหรัฐจะส่ง M1 Abrams จำนวน 31 คัน แต่อาจจะใช้เวลาหลายเดือนเช่นกัน และก็ยังมีอีกหลายประเทศกำลังพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการส่งรถถังของประเทศดังกล่าวอาจช่วยในการพลิกเกม หรือพอต้านทานรัสเซียได้ เนื่องจากรถถังที่ยูเครนจะได้รับคือ M1 Abrams และ Leopard 2 ซึ่งเป็นรถถังที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก และได้ผ่านการยอมรับมาแล้วในสงครามอิรัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยูเครนขอรถถังจำนวน 300 คัน แต่ยูเครนยังได้รับไม่ถึง 100 คัน ขณะที่กองทัพรัสเซียมีรถถังประจำการ 2,700 คัน ยังไม่รวมรถถังในคลังอีกเป็นหมื่นคัน ซึ่งมากกว่ายูเครน 1-2 เท่าตัว แต่รถถังของรัสเซียเป็น T-72 เป็นกำลังหลักของรัสเซีย ซึ่งยังมีประสิทธิภาพด้อยกว่ามาก ด้วยประสิทธิภาพและจำนวนของทั้งสองฝ่าย อาจช่วยเสริมให้ยูเครนพอต้านทานรัสเซียได้เบื้องต้น 


ทั้งนี้ผู้นำ 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี โปรแลนด์ ฝรั่งเศส ประกาศร่วมมือกันช่วยยูเครนป้องกันตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรส่งรถถัง และอาวุธไปที่ยูเครน เนื่องจากรถถังที่ยูเครนจะได้รับนั้นยังคงใช้เวลาอีก 2-3 เดือน และด้วยการประกาศของประเทศนานาชาติในการเคียงข้างยูเครนนั้น และระยะเวลาที่ยูเครนจะได้รับรถถัง รวมถึงฤดูหนาวที่เป็นอุปสรรคต่อการทำสงครามใกล้เริ่มผ่านไป อาจเป็นตัวเสริมเร่งให้รัสเซียต้องเดินเกมที่เร็วขึ้นเพื่อเอาชนะยูเครน ทั้งนี้รัสเซียได้เริ่มวางกลยุทธ์ในการทำศึกระยะยาวมากขึ้น และได้มีการซ้อมร่วมรบกับแอฟริกาใต้และจีนด้วยเช่นกันในช่วงไม่นานมานี้ และด้วยสาเหตุหลายปัจจัยส่งผลต่อความกังวลว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงวันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียบุกยูเครนในวันที่ 24 ก.พ.นี้ หรือช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาทองดีดตัวแรง แล้วอาจทำให้ราคาทองคำกลายเป็นขาขึ้นได้


สัปดาห์นี้คาดว่าราคาทองคำปรับตัวลงไม่มาก และราคาทองคำคาดจะสร้างฐานบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ และอาจจะมีการ rebound ขึ้น ทั้งนี้สามารถเข้าซื้อทองคำระยะสั้นบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ และ 1,785 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามสามารถเปิดสถานะขายราคาทองคำได้บริเวณ 1,855-1,860 ดอลลาร์ ส่วนสัปดาห์นี้สหรัฐจะมีการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานเดือนม.ค. ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลง จีดีพีไตรมาส 4 (ประมาณการครั้งที่ 2) ดัชนี PMI ภาคผลิตและภาคบริการเดือนก.พ.  ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค. นอกจากนี้ติดตามการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC


Gold Bullish 

    ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

    ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน

    หนี้สหรัฐชนเพดานที่ระดับ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

 

Gold Bearish 

    การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น

    การปรับเพิ่มมุมมองคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

    ดอลลาร์แข็งค่า จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาอย่างแข็งแกร่ง


ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่  1,800 ดอลลาร์ และ 1,785 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,855-1,860 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 29,600 บาท และ 29,500 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 29,950 บาท และ 30,000 บาท


ธนรัชต์ พสวงศ์ 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง


ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์

• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD

———————————————————————

ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

• Website : https://bit.ly/TNNWealthWebsite

• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube

• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok

 

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวแนะนำ