TNN online ค่าเงินบาทไทยติดอันดับปรับตัวได้ดีสุดเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ หลังเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีก่อน

TNN ONLINE

Wealth

ค่าเงินบาทไทยติดอันดับปรับตัวได้ดีสุดเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ หลังเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีก่อน

ค่าเงินบาทไทยติดอันดับปรับตัวได้ดีสุดเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ หลังเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีก่อน

ค่าเงินบาทของไทยรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ดีกว่าสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ และดีกว่าสกุลเงินทั้งหมดในประเทศพัฒนาแล้ว ยกเว้นฟรังก์สวิส

“รูชีร์ ชาร์มา” นักลงทุนและคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า ค่าเงินบาทของไทยรักษามูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ดีกว่าสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ และดีกว่าสกุลเงินทั้งหมดในประเทศพัฒนาแล้ว ยกเว้นฟรังก์สวิส ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวรองรับแรงกระแทก (resilient) ได้ดีหลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2541 


โดยขณะนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่แถว 33 บาทต่อดอลลาร์ จาก 26 บาทต่อดอลลาร์ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อเทียบกับค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อยู่ที่ 15,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 2,400 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ในช่วงก่อนการโค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปีเดียวกันเมื่อ 25 ปีก่อน


ทั้งนี้ วิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวเกือบร้อยละ 20 เนื่องจากหุ้นร่วงมากกว่าร้อยละ 60 และเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินและเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย


หลังวิกฤตในปี 2541 ตลาดเกิดใหม่จำนวนมากหันมาใช้นโยบายการเงินแบบอนุรักษนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ไทยมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทำให้ไม่กระทบต่อค่าเงินและความมั่นใจของนักลงทุนมากเกินไป 


ภูมิภาคอาเซียนเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2543 และตั้งแต่นั้นมาการขาดดุลงบประมาณของไทยอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1 ของ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดเกิดใหม่ราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่ธนาคารกลางมีความระมัดระวังสูง โดยใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลปริมาณเงิน (money supply) ไว้ที่ร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งต่ำสุดเป็นอันดับ 3 ในบรรดาเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่สำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยอยู่แถวร้อยละ 2 ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ มีเพียงจีน ไต้หวัน และซาอุดีอาระเบียที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าไทยนับจากปี 2541


นอกเหนือจากการที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยที่สุด รายได้จากต่างประเทศที่มั่นคงช่วยให้ไทยอยู่ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เปิดกว้างมากสุด โดยมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 ของ GDP ในปี 2541 เป็นกว่าร้อยละ 110 ในปัจจุบัน และไทยยังสร้างจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและการผลิตที่มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของ GDP รวมทั้งมีเสถียรภาพทางการเงินแม้จะมีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง ซึ่งรวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ แม้ว่ารายได้ประชากรต่อคนต่อปีจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อยู่ที่เกือบ 8,000 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ดอลลาร์ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง


ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์

• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD

———————————————————————

ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

• Website : https://bit.ly/TNNWealthWebsite

• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube

• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok

 

หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวแนะนำ