TNN online สมรภูมิค้าปลีกปี 66 เร่งลงทุนรับกำลังซื้อ-ท่องเที่ยวฟื้น!

TNN ONLINE

Wealth

สมรภูมิค้าปลีกปี 66 เร่งลงทุนรับกำลังซื้อ-ท่องเที่ยวฟื้น!

สมรภูมิค้าปลีกปี 66 เร่งลงทุนรับกำลังซื้อ-ท่องเที่ยวฟื้น!

ค่ายธุรกิจค้าปลีกแต่ละราย มีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งกำลังซื้อที่ฟื้นตัว ในปี 2566

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอาร์ซี / เปิดเผยว่า ได้วางแผนงานการดำเนินงานในช่วง 5 ปีจากนี้ (ปีพ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้ยุทธศาสตร์ CRC Retailligence เพื่อนำ 5 กลุ่มธุรกิจมุ่งสู่ความเป็น The Next Sustainable Growth โดยใช้งบประมาณการลงทุนรวมมากกว่า 150,000 ล้านบาท ในการขยายพอร์ตธุรกิจให้เติบโตทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี


ทั้งนี้ปีนี้ปีแรกตามแผน (พ.ศ.2566) วางงบลงทุนรวมไว้กว่า 28,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนในกลุ่มแฟชั่น และอาหารค่อนข้างมาก ในสัดส่วน 45% และ 35% ตามลำดับ เพราะเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่กลับมาแบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุน และแบ่งเป็นในไทย 75% และต่างประเทศคือเวียดนามเป็นหลัก 25% รวมทั้งตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 15% หรือมีรายได้รวมกว่า 270,000 ล้านบาท โดยงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จะนำมาใช้ในเรื่องของระบบไอทีต่างๆ


สำหรับแผนลงทุนหลักๆในปีนี้ ทางด้านออฟไลน์สโตร์ คือ ห้างสรรพสินค้า มี 86 สาขา ปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา ปรับปรุงอีก 15 สาขา / ร้านไทวัสดุ มี 80 สาา จะเปิดใหม่อีก10 สาขา และปรับปรุง 16 สาขา / ท็อปส์ มี 174 สาขา เปิดใหม่ 15 สาขา ปรับปรุง26 สาขา / โรบินสันไลฟ์สไตล์ มี 28 สาขา เปิดใหม่ 1 สาขา ปรับปรุง 1 สาขา และ ร้านโก ในเวียดนาม มี 39 สาขา เปิดใหม่ 5-7 สาขา ปรับปรุง 10 สาขา ซึ่งในประเทศเวียดนามจะเน้นธุรกิจอาหารกับอสังหาริมทรัพย์


ในส่วนของ CRC มีร้านสะดวกซื้อแบรนด์แฟมิลี่มาร์ท (Family mart) ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของธุรกิจและสภาพการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งบริษัทให้ความยืดหยุ่นกับธุรกิจในเครืออยู่ตลอดเวลา หากธุรกิจใดที่ไม่ได้สะท้อนภาพแนวทางของบริษัทชัดเจน ก็สามารถปรับลดบทบาท หรืออาจขายทิ้งไปก็เป็นไปได้


สำหรับปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่างร้านแฟมิลี่มาร์ท ที่มีพื้นที่ประมาณ 150 ตารางเมตร มองว่าพื้นที่ร้านมีขนาดเล็ก และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคไม่ครบถ้วน ทำให้หันมาโฟกัสในธุรกิจแบรนด์ท็อปส์ (Tops) ที่มีขนาดพื้นที่ร้านขนาดใหญ่กว่าที่ 250-300 ตารางเมตร วางสินค้าครบถ้วนมากกว่า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน และสามารถขยายสาขาเข้าใกล้ชุมชนและหมู่บ้านได้เช่นกัน ซึ่งในปี 66 บริษัทมีแผนเปิดสาขาแบรนด์ Tops ราว 15 สาขาภายใต้โมเดล Tops Market


ส่วนเอ็มบีเคกรุ๊ป มีการแต่งตั้ง นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ต่อจากนายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ที่ดำรงตำแหน่งมากว่า 20 ปี 


และคาดว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 จะพลิกฟื้นกลับไปดีกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้ 11,400 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท จากธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรมที่สร้างรายได้หลักกว่า 45% ฟื้นตัวกลับมาชัดเจนมากขึ้น


ทั้งนี้ศูนย์การค้า MBK Center มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 80,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย หลังจากปรับปรุงประเภทร้านค้าที่เช่าพื้นที่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น


พร้อมทั้งปรับปรุงศูนย์การค้า Paradise Park ด้วยลงทุน 1 พันล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยคัดเลือกผู้เช่าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม เพื่อจับกลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการเป็นประจำ เพื่อสร้างความแตกต่างจากศูนย์การค้าใกล้เคียง


และธุรกิจข้าว แบรนด์ "มาบุญครอง" ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ถึง 30% ยังมีการเติบโตที่ดี จากการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้น และเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเป็นข้าวพรีเมียม เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา 


ในส่วนสยามพิวรรธน์  บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี เปิดตัวโครงการไอซีเอส ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ มูลค่าลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นอาคารสูง 29 ชั้น บนที่ดิน 5 ไร่ พื้นที่กว่า 70,000 ตารางเมตร ริมถนนเจริญนคร ฝั่งตรงข้ามไอคอนสยาม เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าเจริญนคร BTS โดยไอซีเอส เป็นส่วนต่อขยายของ "ไอคอนสยาม" เฟส2 ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน ซึ่งเปิดบริการเฟสแรกไปเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา 


รวมทั้งการเปิดตัวพรีเมียมไฮเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ใหม่ Lotus’s Privé (โลตัส พรีเว่) แห่งแรกในประเทศไทย และจะเป็นแบบพัฒนาโครงการอื่นในอนาคต ตามความเหมาะสมของทำเล และความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ของโลตัส 


ส่วนบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน 7-Eleven ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศกว่า 13,800 สาขาทั่วประเทศ มีแผนขยายสาขาต่อเนื่องอีก 700 สาขา ในปี 2566 ด้วยงบลงทุน 11,000-12,000 ล้านบาท 


เช่นเดียวกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์ค้าส่ง แม็คโคร และธุรกิจค้าปลีก โลตัส ในปี 2566 จะเห็นการรับรู้รายได้จากการผนึกกำลังกันระหว่างธุรกิจค้าส่งและธุรกิจค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่รวมกิจการทั้งสยามแม็คโคร และโลตัส 


ทำให้แม็คโครก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส และการบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า เช่น "โลตัสนอร์ธ ราชพฤกษ์" ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการขยายสาขาใหม่ในรูปแบบ “Smart Community Center” ที่เป็นมิติใหม่ ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโลตัสจากซูเปอร์มาร์เก็ต ให้กลายเป็นศูนย์กลางชุมชน แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของการจับจ่ายและกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ของคนในชุมชน และสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตเหนือกว่าแค่ชอปปิง 


ส่วนบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในเครือเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะลงทุนตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ซึ่งมีแผนเปิดสาขาทุกประเภททั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต 2-3 แห่งในไทย / ซุปเปอร์มาร์เก็ต / มินิ Big C 200-300 สาขา ต่อเนื่องทั้งในไทย และ ต่างประเทศโดยเฉพาะในกัมพูชา และสปป.ลาว 


รวมถึงมีแผนการเปิด “บิ๊กซี ฟู้ดเพลส” และร้านขายส่ง MM Food Service ในไทย ส่วนในกัมพูชาบริษัทได้เข้าซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อกีวีมาร์ท 18 แห่งเมื่อปี 2565 และเมื่อรวมกิจการเสร็จสิ้น กลุ่มบริษัทจะเริ่มวางแผนเปิดสาขา “บิ๊กซี มินิ” ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง


รวมทั้งมีแผนจะนำบิ๊กซี ทำการเสนอขายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังมีการเลือกที่ปรึกษาทางการเงินจากต่างประเทศและในประเทศ หลังบิ๊กซีออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการซื้อกิจการของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จากกลุ่มกาสิโน 


และคาดว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของบิ๊กซีในครั้งนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท 


ส่วน “กลุ่มเดอะมอล์กรุ๊ป” หลังคุณศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดอะมอลล์กรุ๊ปประกาศว่าในปี 2566 จะเป็นปีทอง ที่จะเปิดศูนย์การค้าถึง 3 แห่ง ทั้งดิ เอ็มสเฟียร์ จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปี 2566 เพื่อมาเติมเต็มโครงการ “ดิ เอ็มดิสทริค” ทั้งเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์ ด้วยงบลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท 


รวมทั้งการปรับปรุง เดอะมอลล์ บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร และ เดอะมอลล์ บางแค 350,000 ตารางเมตร เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าครบวงจร mega all-in-one retail & entertainment project พื้นที่รวมกว่า 700,000 ตารางเมตร เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เพิ่มความทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการรองรับการแข่งขันของค้าปลีกภายในย่านนั้นๆที่เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี หลังก่อนหน้านี้มีการปรับปรุงเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และท่าพระ เป็น M Lifestore 


รวมทั้งศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่เดอะมอลล์กรุ๊ป ร่วมมือกับ สยามพิวรรธน์ ในการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบ 17 ปี โดยจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2566 เช่นกัน



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง