TNN online "JD Central" ชี้แจงปิดตัว ไม่ใช่เพราะขาดทุน!!

TNN ONLINE

Wealth

"JD Central" ชี้แจงปิดตัว ไม่ใช่เพราะขาดทุน!!

JD Central ชี้แจงปิดตัว ไม่ใช่เพราะขาดทุน!!

JD Central ชี้แจงหลังเตรียมให้บริการวันสุดท้าย 3 มีนาคมนี้ ระบุ การปิดตัวไม่ใช่เพราะสาเหตุขาดทุน แต่เป็นการตกลงรวมกัน ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย

หลัง JD Central ประกาศยุติกิจการในไทย วันที่ 3 มีนาคมนี้ โดยเฉพาะมีการคาดการณ์สาเหตุมาจากการขาดทุนสะสมเกือบ 6 พันล้าน หลังดำเนินธุรกิจในไทยมาเกือบ 6 ปี 


ล่าสุด นายวิสัณห์ ศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด หรือ เจดี เซ็นทรัล เปิดเผยหลังประกาศยุติการให้บริการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม เจดี เซ็นทรัล โดยจะปิดรับออเดอร์สั่งซื้อสินค้าในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ส่วนบริการหลังการขายจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนปิดดำเนินการบริษัทต่อไป 


โดยพนักงานและผู้บริหารประมาณ 500 คน จะถูกเลิกจ้างทั้งหมด ซึ่งบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย พร้อมด้วยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินช่วยเหลือพิเศษ 


สำหรับการปิดดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจร่วมกันทั้งจากกลุ่มเซ็นทรัลและผู้ถือหุ้นเจดีดอทคอม ซึ่งได้ปิดให้บริการพร้อมกันทั้งในประเทศไทยและอินโดนีเซีย 


ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเจดีดอทคอมที่ให้บริการทั่วโลก จะยังคงดำเนินงานตามปกติ


เหตุผลที่ทำให้บริษัทต้องปิดให้บริการ โดยผลจากการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เปิดดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อปี 2561 ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะในความเป็นจริงจะพบว่าขณะนี้กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีในไทยยังขาดทุนทุกปีแม้กระทั่งคู่แข่งเอง หรือธุรกิจด้านบริการจัดส่งอาหาร เพราะเชื่อว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะต้องใช้ระยะเวลานานก่อนที่จะสามารถทำกำไรได้ เนื่องจากลูกค้ามีเพียงในประเทศและเป็นลูกค้ากลุ่มเดิม เพียงปรับจากซื้อหน้าร้านมาซื้อในออนไลน์เท่านั้น


และหากมองภาพรวมตลาดค้าปลีกปัจจุบันมีมูลค่ามากถึง 200,000 ล้านบาท โดยช่องทางขายผ่านอีคอมเมิร์ซยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น ซึ่งการที่จะสามารถทำกำไรได้จะต้องมีสัดส่วนที่มากกว่านี้ จึงเปรียบธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยขณะนี้ เหมือนกับซูเปอร์เซ็นเตอร์ อย่าง โลตัส และ คาร์ฟูร์ ที่เริ่มเข้ามาเปิดในไทยในอดีต ที่คนไทยยังคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าในร้านโชห่วย และยังไม่มีร้านสะดวกซื้อเข้ามาเปิดให้บริการ 


ทำให้ท้ายที่สุดต้องออกไปจากตลาดไทย และเมื่อเวลาผ่านไป คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับห้างก็ทำให้เกิดห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งไตรมาส 3 ปี 2564 ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านสั่งซื้อออนไลน์น้อยลง 



ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง