TNN "ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" กางแผนธุรกิจ ดัน GC เติบโตยั่งยืน

TNN

Wealth

"ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" กางแผนธุรกิจ ดัน GC เติบโตยั่งยืน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง  กางแผนธุรกิจ ดัน GC เติบโตยั่งยืน

"ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" กางแผนธุรกิจ ดัน GC เติบโตยั่งยืน

ความท้าทายในการนั่งทำหน้าที่บริหารองค์กรพลังงานขนาดใหญ่ อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.บริษัทพลังงานข้ามชาติของไทยที่ติดอันดับ Fortune Global 500 สร้างความกดดันไม่น้อยให้กับ "ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท



ตลอดช่วงการนั่งทำหน้าที่บริหารกว่า 3 ปี GC มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการเดินหน้าองค์กรสู่เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO) และการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตสู่ "บริษัทข้ามชาติ" ด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ จนปัจจุบัน GC มีบริษัทลูกและบริษัทร่วมทุนกว่า 34 บริษัท และมีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 29 ประเทศทั่วโลก



"ดร.คงกระพัน" พูดถึงความท้าทายในปี 2566 ว่า มีปัจจัยที่ผกผันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) เศรษฐกิจไม่ดี ค่าพลังงานแพงทั่วโลก เงินหายไปเยอะจากระบบ เงินที่จับจ่ายใช้สอยก็ลดลงทั่วโลก สิ่งที่ GC เดินหน้าคือ ทำทุกสิ่งที่ทำได้



เริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการต้นทุนให้ดี ลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้้ และลงทุนในของใหม่ๆ เช่น NatureWorks Bio-plastic หรือบริษัทนานาชาติที่ผลิตพลาสติกชีวภาพ ปี 2565 ทำกำไรเยอะ สร้างขายไม่พอ พวกชีวภาพ หรือพวกที่ในต่างประเทศที่ทำยากจะดี ส่วนพวกที่ไม่ค่อยดี เช่น Commodity หรือโภคภัณฑ์ ซึ่งที่ไม่ดีเพราะ 1.Over Supply 2.เศรษฐกิจไม่ดี



ส่วน Allnex ที่ GC เข้าไปร่วมทำ M&A เป็นการเพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ สร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ ตัวนี้กำไรดีพอสมควร แต่ยังไม่ได้เท่าที่คิด ส่วนเรื่องท่าเรืออย่างฮิวสตัน ในการส่งออกก๊าซ เป็นท่าเรือที่มีอยู่แล้ว GC เข้าไปร่วมเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ



ปี 2566 จะเป็นปีที่ GC เทิร์นอะราวด์ จาก GC ที่มีอยู่ทั่วโลก ที่ไ่หนดี ก็ถือเป็นโอกาส และ GC จะะพยายามสร้างโอกาสใหม่ๆ เพ่ิมขึ้นเรื่อยๆ อย่างเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) สหรัฐอเมริกามีโอกาสดี เพราะเขาใช้ Incentive เป็นการสร้างแรงจูงใจนักลงทุน ที่สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายใหม่เรียกว่า Inflation Reduction Act เป็นการนำเงินมาทำเรื่องคาร์บอน ทำรีไซเคิลที่สหรัฐอเมริการีเทิร์นเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาช่วย Subsidize ช่วยสนับสนุนโครงการที่ลดคาร์บอน GC จึงสนใจที่จะไปลงทุนเรื่องโรงงานรีไซเคิลที่นั่น แต่จะเป็นดีลที่ไม่ใหญ่นัก จะไม่ได้ใหญ่แบบโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่มลรัฐโอไฮโอ



"เราก็สนใจเรื่องการทำพลาสติกรีไซเคิล คล้ายๆ ที่โรงงาน ENVICCO ที่ GC ร่วมทุนกับ ALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล ตอนนี้กำลังศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ที่โอไฮโอ แต่ก็ไม่แน่ มันเป็นไปได้หมด เราจะดูที่ใกล้แหล่งพลาสติก อย่างทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ก็เป็นแหล่งที่ใช้พลาสติกเยอะ ถ้าสามารถ M&A ได้ก็ดี"



นอกจากนี้ โรงงานของ ENVICCO ที่ระยอง ทำเรื่องพลาสติกรีไซเคิล ปี2566 จะเดินหน้าเต็มที่มากขึ้นเป็น 60-70% จากปี 2565 ที่เริ่มเทสต์รัน ซึ่งขณะนี้ผ่านการอนุมัติจาก FDA หรือองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาแล้ว และกำลังรอขั้นตอนการอนุมัติการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จาก อย.ไทย หากได้เรียบร้อย ก็จะเดินหน้าผลิตบรรจุภัณฑ์ Food Grade เต็มที่ เพราะมั่นใจว่าตลาดมีความต้องการสูงแน่นอน



ส่วนซัพพลายเออร์ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ขณะนี้มีประมาณ 18 ราย ในกว่า 30 จังหวัด เป็นการทำสัญญาระยะยาว 5, 7, 10 ปี แล้วแต่ตกลง และมีรีไซเคิลฮับอยู่ 7 แห่ง คือที่ระยอง 5 แห่ง นครปฐม 1 แห่ง และสมุทรปราการอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งอนาคตจะขยายเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง GC มีแผนขยายแหล่งวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนชุมชน ในการสร้างงานสร้างรายได้ เพราะ GC รับซื้อพลาสติกใช้แล้วจากชุมชนในราคาที่ดี โดยไม่ต้องการผ่านพ่อค้าคนกลาง และจะพยายามขยายงานให้ครบวงจร ให้ทั้งความรู้ และช่วยสร้างเสริมรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน



"ดร.คงกระพัน" สรุปตอนท้ายว่า GC ขณะนี้มีอยู่ 5 ธุรกิจ 1. กลุ่ม Base-Chemical เช่น โรงกลั่น อะโรเมติกส์ 2 กลุ่ม intermediate เช่น ฟีนอล 3 กลุ่มโพลิเมอร์ หรือพวกโพลีทั้งหลาย พวกนี้ต้องใกล้ชิดลูกค้า ทำ R&D (การวิจัยและพัฒนา) เยอะๆ 4 กลุ่ม Bio &Circularity และ 5. Performance Chemicals เคมีภัณฑ์ประสิทธิภาพ เช่น Kuraray ผู้ผลิตสารเคมี เส้นใย และวัสดุอื่นๆ ของญี่ปุ่น และ Allnex



จาก 5 กลุ่มธุรกิจ GC ตั้งเป้าปี พ.ศ.2573 จะมีรายได้จากกลุ่ม 4 และ 5 ประมาณ 35% เนื่องจากทุกอย่างจะเดินหน้าเต็มที่ Allnex โรงกลั่น และของใหม่ๆ อย่าง Kuraray ก็จะสร้างรายได้เต็มที่



"GC เราจะไม่ได้ไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป จะบาลานซ์พอร์ต ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก และ GC ก็ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะตลาดมีความไม่แน่นอนเยอะ"



ส่วนการลงทุน หรือทำ M&A ก็จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วงเสรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ต้องระมัดระวังเรื่องของกระแสเงินสด และต้องดูเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ที่ผ่านมา GC ออกหุ้นกู้ (Bond) เยอะ โดยเฉพาะ ยูเอสบอนด์ และล่าสุด ยังเซ็นสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำ โดยไทยพาณิชย์ให้ GC 15,000 ล้านบาท ก็มี KPIs ว่า GC ต้องลดคาร์บอนให้ได้ตามเป้า แล้วไทยพาณิชย์ก็จะลดดอกเบี้ยให้บ้าง



เป้าหมายของ GC ที่ "ดร.คงกระพัน" กำหนดไว้คือ การเดินหน้าธุรกิจภายใต้กรอบ ESG (Environment, Social, Governance) พร้อมทั้งตั้งเป้า 5 ปี จะลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 10,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างองค์กร GC ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ข่าวแนะนำ