TNN online เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ -จับตาส่งออก ผลประชุมเฟด สถานการณ์ยูเครนต่อ

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ -จับตาส่งออก ผลประชุมเฟด สถานการณ์ยูเครนต่อ

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ -จับตาส่งออก ผลประชุมเฟด สถานการณ์ยูเครนต่อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ แนะ จับตาสัปดาห์หน้าตัวเลขส่งออกไทย ผลการประชุมเฟดและสถานการณ์ในยูเครน มีผลต่อความเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์หน้า

วันนี้( 21 พ.ค.65) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังแข็งค่าผ่านแนวสำคัญหลายแนว ประกอบกับมีปัจจัยบวกช่วงต้นสัปดาห์จากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/65 ของไทยที่ออกมาดีกว่าที่คาด  ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการย่อตัวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และยอดขายบ้านมือสองที่ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วย


โดยค่าเงินเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวกลับลงมา อย่างไรก็ดีเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายอีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนเปลี่ยนจุดสนใจไปที่การประเมินความเป็นไปได้ของการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากเฟดมากขึ้น


เมื่อวันศุกร์ (20 พ.ค.) ที่ผ่านมา เงินบาทปิดตลาดที่ 34.27 (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 34.25) เทียบกับระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พ.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 12,600 ล้านบาท และ 9,362.4 ล้านบาท ตามลำดับ


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ  33.80-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเม.ย. รายงานการประชุมเฟดเมื่อ 3-4 พ.ค. สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ


ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 (ครั้งที่ 2) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลข PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ


ข้อมูลจาก :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

ภาพจาก : AFP 

ข่าวแนะนำ