TNN นาโตเร่งติดอาวุธให้ยูเครน ถือเป็นสงครามตัวแทนกับรัสเซียหรือไม่?

TNN

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

นาโตเร่งติดอาวุธให้ยูเครน ถือเป็นสงครามตัวแทนกับรัสเซียหรือไม่?

นาโตเร่งติดอาวุธให้ยูเครน ถือเป็นสงครามตัวแทนกับรัสเซียหรือไม่?

หลังจากสหรัฐฯ ประกาศความช่วยเหลือทางการทหารรอบใหม่แก่ยูเครน เช่นเดียวกับ พันธมิตรอีกหลายชาติ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นาโตกำลังทำสงครามโดยตรงกับรัสเซียผ่านความขัดแย้งในยูเครนหรือไม่

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศความช่วยเหลือรอบใหม่ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 25,600 ล้านบาทแก่ยูเครน เป็นการส่งสัญญาณถึงพันธะสัญญาทางการทหารที่เข้มข้นมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการส่งอาวุธเพื่อให้ป้องกันตัวเอง  


สำนักข่าว Bloomberg มองว่า ไบเดนกำลังหาทางช่วยยูเครนอย่างไร โดยที่ไม่ต้องเอากองทัพสหรัฐฯ ไปเกี่ยวข้องโดยตรง และต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือที่อาจจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก


สำนักข่าว The Straits Times ของสิงคโปร์ รายงานว่า ความคิดริเริ่มของสหรัฐฯ เป็นไปตามการตัดสินใจที่คล้ายคลึงกันของอังกฤษ สาธารณรัฐเช็ก และโปแลนด์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทั้งหมดได้ประกาศเร่งส่งอาวุธหนักไปยังยูเครน รวมทั้งรถถัง เฮลิคอปเตอร์ และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ซับซ้อน


ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ตอนนี้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตพยายามทำสงครามโดยตรงกับรัสเซียผ่านความขัดแย้งในยูเครนหรือไม่


---เสี่ยงเผชิญหน้าโดยตรง?---


โจนาธาน ไออัล ผู้สื่อข่าวฝ่ายกิจการโลกของสำนักข่าว The Straits Times มองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีการเผชิญหน้าโดยตรงมากขึ้นระหว่างรัสเซียและนาโต พันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองตะวันตกทุกคนให้คำมั่นว่าจะหลีกเลี่ยง


รัสเซียก็เคยเตือนมาก่อนแล้วว่าจะสามารถโจมตีการส่งมอบอาวุธของชาติตะวันตก และอาจปฏิบัติต่อประเทศตะวันตกในฐานะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในสงคราม


เซอร์เกย์ เรียบคอฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า หลังจากชาติตะวันตกส่งอาวุธขนาดใหญ่ชุดแรกแก่ยูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า รัสเซียเตือนสหรัฐฯ ว่าการส่งมอบอาวุธจากหลายประเทศให้แก่ยูเครน ไม่ได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวที่อันตราย แต่ยังทำให้การโจมตีขบวนรถขนอาวุธเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายได้


---ติดอาวุธยูเครนได้ ไม่ผิดกฏหมาย---


ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยปกติแล้วประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถจัดหาอาวุธให้กับประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม โดยไม่ถูกนับเข้าร่วมในความขัดแย้งดังกล่าว


แต่เรื่องจะซับซ้อนมากขึ้นหากอาวุธถูกส่งไปยังยูเครนในขบวนรถที่ดำเนินการโดยกองทัพของประเทศอื่น ๆ หรือถ้าเพื่อนบ้านของยูเครน อนุญาตให้กองทัพยูเครนใช้ดินแดนของพวกเขาเพื่อโจมตีกองทหารรัสเซีย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ รัสเซียสามารถโต้แย้งได้อย่างถูกต้องว่าชาติตะวันตกเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้


อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ รัสเซียไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่จะขัดขวางการหลั่งไหลของอาวุธจากตะวันตกไปยังยูเครน หรือโจมตีขบวนรถขนอาวุธ และยังไม่ได้กำหนด "เส้นสีแดง" ที่ต้องทนเห็นยูเครนรับความช่วยเหลือทางทหารจากตะวันตกว่าเป็นอย่างไร


นักวิเคราะห์มองว่า เหตุผลหนึ่งสำหรับความคลุมเครือของรัสเซีย นั่นเพราะว่า รัสเซียยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้ทำสงครามในยูเครน และเรียกการบุกยูเครน ว่าเป็น "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" และการใช้คำว่า "สงคราม" ในบริบทปัจจุบันเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายในรัสเซีย


---กองทัพรัสเซียตกใจกับอาวุธยูเครน---


อย่างไรก็ตาม ระบอบกฎหมายที่คลุมเครือ ยังอนุญาตให้สหรัฐฯ ปฏิเสธโครงการต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือกองทัพยูเครน หากมีแนวโน้มว่าจะทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย เช่น การคัดค้านข้อเรียกร้องจัดทำเขตห้ามบินของผู้นำยูเครน หรือ ปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์ในการเป็นตัวกลางส่งมอบเครื่องบินขับไล่ให้กับยูเครน เพราะนั่นหมายถึง นักบินของนาโตจะต้องบินเข้าไปในยูเครน ซึ่งอาจจะทำให้ตกเป็นเป้าหมายของกองทัพรัสเซีย


แต่เพราะสงครามเข้าสู่เดือนที่สองแล้ว รัฐบาลตะวันตกก็กดดันให้เพิ่มการสนับสนุนทางทหาร ไม่เพียงให้ยูเครนยืนหยัดต่อสู้กับรัสเซีย แต่ยังต้องผลักดันกองกำลังของรัสเซียให้ถอยกลับด้วย


ศาสตราจารย์เอเลียต โคเฮน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ หยุดลังเลที่จะส่งมอบอาวุธ เพราะมีกองทัพยูเครนมีสิทธิ์ชนะหากได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน


และแนวคิดดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลหลายชาติในยุโรป โดยเฉพาะโปแลนด์ ร่วมกันจัดหาอาวุธให้ยูเครนมากขึ้น และส่งผลให้กองทัพรัสเซียตระหนกกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ซับซ้อนซึ่งยูเครนได้รับจากพันธมิตร อาจจำกัดความสามารถของรัสเซียในการต่อสู้


นั่นคือเหตุผลที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียประกาศว่าได้ทำลายแบตเตอรีของระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน ที่พันธมิตรในยุโรปจัดหาให้ยูเครน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า นี่คือ คำใบ้ว่ารัสเซียอาจจะเปลี่ยนนโยบายการเพิกเฉยต่อการส่งมอบอาวุธของชาติตะวันตกก็เป็นได้


---ฟินแลนด์-สวีเดน อีกประเด็นขุ่นเคืองใจ---


นอกจากการส่งมอบอาวุธให้กับยูเครนแล้ว อีกเรื่องที่นาโตกับรัสเซียกำลังขุ่นเคืองกันในขณะนี้คือ การที่ผู้นำสวีเดนและฟินแลนด์ ประกาศว่าจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตหรือไม่เร็ว ๆ นี้


ทำให้รัสเซียออกมาเตือนนาโตว่า หากสวีเดนและฟินแลนด์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต รัสเซียจำเป็นจะต้องยกระดับการป้องกันประเทศเช่นกัน และจะไม่มีการหารือเรื่องนิวเคลียร์ใด ๆ อีกต่อไป จนกว่า สถานะความเป็นอิสระของบอลติกจะกลับคืนมา แต่จนถึงวันนี้ รัสเซียยังไม่ได้ใช้มาตรการเหล่านั้น และในอดีตก็ยังไม่เคย


ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวย้ำว่า รัสเซียจำเป็นต้องปรับสมดุลสถานการณ์ใหม่ด้วยมาตรการของตนเอง หากสองชาตินี้เดินหน้าเข้าเป็นสมาชิกนาโต


ทั้งนี้ ฟินแลนด์และสวีเดน ไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มทางการทหารใด ๆ แต่สถานการณ์ในยูเครน ทำให้เกิดแรงสนับสนุนในภาคประชาชนของเพิ่มมากขึ้น ว่าควรเข้าเป็นสมาชิกของนาโต


อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสอาจมีการเปลี่ยนแปลงท่าที หากได้ผู้นำคนใหม่เป็นมารีน เลอ เปน คู่แข่งคนสำคัญชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ล่าสุดระบุว่า หากเธอชนะจะฟื้นความสัมพันธ์นาโตกับรัสเซีย และจะนำฝรั่งเศสออกจากนาโต

—————

ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด

https://bit.ly/TNNRussiaInvasion

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง